เรือสำราญ Majestic Princess ล่องเส้นทางสายไหมทางทะเล

0
593

เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมแถลงข่าวการมาเยือนประเทศไทยของเรือสำราญ Majestic Princess พร้อมต้อนรับการเดินทางสู่ประเทศไทย และกล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ (Cruise Tourism) การส่งเสริมท่องเที่ยวเรือสำราญ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและมีความสนใจเฉพาะด้านเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เรือสำราญ Majestic Princess เป็นทริปปฐมฤกษ์ที่แล่นจากท่าเรือชีวีตาเวกเกีย (Civitavecchia) แคว้นลาซีโอ ประเทศอิตาลี เมืองท่าชายทะเลบนฝั่งทะเลติร์เรเนียน (Mare Tirreno) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นกิจกรรม “ล่องเรือตามเส้นทางสายไหมทางทะเล เล่าเรื่องเกี่ยวกับจีน” ร่วมกันจัดขึ้นโดยสมาคมวิเทศสัมพันธ์ประชาชนจีนและกลุ่มบริษัทเรือสำราญคาร์นิวัลของสหรัฐฯ โดยเรือสำราญ Majestic Princess จะล่องเรือตามเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยตั้งแต่ออกเดินทางจะแวะผ่านท่าเรือสำคัญของอิตาลี กรีซ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ศรีลังกา มาเลเซียและไทย จนในที่สุดจะไปถึงเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนของจีน ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 37 วัน

สมาคมการเดินเรือสำราญใหญ่ที่สุดของโลก (Cruise Lines International Association : CLIA) ระบุว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 17.8 ล้านคนในปี 2552 เป็น 23 ล้านคน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% ต่อปี และในตลาดเอเชีย 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเฉลี่ย 29% ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ (Cruise) มีบริษัทสายเดินเรือ เข้ามาเดินเรืออยู่แล้วมากกว่า 10 สาย เช่น Princess Cruise, Royal Caribbean, Costa, Cunard, Star Cruise, P&O และ Holland America Line Group เป็นต้น ซึ่งได้แวะพักตามจุดต่างๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ คือ ต้องการพัฒนายกระดับท่าเรือสำราญให้เป็น Port of call ที่มีคุณภาพมาตรฐานในระยะ 5 ปี ถัดจากนี้ และจะพัฒนาให้เป็น Home Port เช่นเดียวกับประเทศจีนและสิงคโปร์ ในอีกระยะ 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวเรือสำราญไว้อย่างต่อเนื่องที่สำคัญ ได้แก่

1. การปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูเก็ต การศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือ Cruise ที่จังหวัดกระบี่ และเกาะสมุย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือกับแหล่งท่องเที่ยว (เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง)

2. การประชาสัมพันธ์ให้บริษัทสายเดินเรือ Cruise และนักท่องเที่ยวรับทราบถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวเรือสำราญ

3. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์ รวมทั้งการพัฒนาการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการการท่องเที่ยว และมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

4. การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกของเรือโดยสารและนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

5. การพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญ ได้แก่ อาชีพลูกเรือ ผู้ให้บริการบนเรือ ผู้ประกอบการและชุมชน

เรือสำราญ Majestic Princess เป็นเรือลำใหม่ที่ออกแบบสำหรับตลาดเอเชียโดยเฉพาะ และกำลังเดินทางเข้ามาประจำการในเอเชีย โดยเชิญกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะทำงานอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ (Cruise) สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ จำนวนประมาณ 300 คน เยี่ยมชมเรือ Majestic Princess เพื่อศึกษาการบริหารจัดการเรือสำราญ (Cruise) นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Maritime Hub ด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญของอาเซียนต่อไป