ส่องทุเรียนไห่หนาน ออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายนนี้

0
1

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนาน หรือ ไหหลำเริ่มวิจัยและทดลองปลูกทุเรียนจนประสบความสำเร็จได้ผลผลิตทุเรียนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีนี้หลังจากเกษตรกรที่เกาะไห่หนานเริ่มปลูกทุกเรียนเมื่อ 4 ปีกอ่น ปีนี้เป็นปีที่เกษตรกรจะได้เก็บเกี่ยวทุเรียนในเดือนมิถุนายนนี้ แม้ปริมาณที่ออกสู่ในล็อตแรกนี้จะไม่มาก แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพันธุ์ทุเรียนและการปลูกทุเรียนในจีนเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในอนาคต

โดย Feng Xuejie ผู้อำนวยการสถาบันไม้ผลเขตร้อนและนักวิจัยของ Hainan Academy of Agricultural Sciences คาดว่า ปีนี้ไห่หนานจะผลิตทุเรียนได้เพียง 50 ตันเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.005 ของทุเรียนทั้งหมดที่จีนบริโภค ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ตามการคาดการณ์อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าที่ไห่หนานจะสามารถมีผลผลิตทุเรียนมากพอที่จะมีผลต่อราคาทุเรียนในประเทศได้ โดยในระยะแรกนี้ผลผลิตทุเรียนยังมีราคาแพง เนื่องจากต้นทุนยังสูงกว่าทุเรียนจากประเทศอาเซียน

โดยทุเรียนที่เก็บเกี่ยวได้ในเดือนนี้ จะให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวในไห่หนานได้ลองชิมเพื่อพัฒนาผลผลิตต่อไป ส่วนผู้บริโภคนอกไห่หนานอาจยังไม่สามารถได้ชิมทุเรียนล็อตแรกนี้

สำนักข่าว CCTV รายงานว่า สวนทุเรียนครอบคลุมพื้นที่เกือบ 700 เฮกตาร์ หรือประมาณ 4,400 ไร่ อยู่ในเมืองซานย่า ใต้สุดของเกาะไหหลำ แต่ทุเรียนที่พอจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมีเพียงประมาณ 70 เฮกตาร์ หรือ 440 ไร่ โดยราคาทุเรียนในประเทศจะไม่ลดลงจนกว่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในประเทศจะมีเกินกว่า 20,000-30,000 เฮกตาร์  หรือ 1.25 – 2 ล้านไร่

ดังนั้นผลผลิตทุเรียนไห่หนานจากการทดลองปลูกจึงยังไม่กระทบการนำเข้าทุเรียนจากอาเซียนที่จีนยังมีความต้องการอีกมาก

โดยไทยยังคงมีปริมาณส่งออกทุเรียนมาจีนเป็นอันดับหนึ่ง โดยทำรายได้ทั้งหมด 107,00 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ส่วนเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งออกทุเรียนมูลค่า 153 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5,300 ล้านบาทมากกว่าปีก่อนหน้า 7.3 เท่า ซึ่งส่งมายังจีนร้อยละ 87 ของปริมาณทั้งหมด

ทุเรียนเวียดนามที่ขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ JD.com  มีราคาประมาณ 1,730 บาทสำหรับทุเรียนน้ำหนัก 7 กิโลกรัม โดยต้องสั่งซื้อล่วงหน้า ขณะนี้ทุเรียนไทยและมาเลเซียขาดตลาดในแพลตฟอร์ม Tmall

ส่วนฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งได้รับไฟเขียวให้ส่งออกทุเรียนมายังจีน จากที่ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jnr ได้ลงนามในข้อตกลงการค้ากับจีนระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากข้อตกลงการค้าดังกล่าว คาดว่าฟิลิปปินส์จะมีรายได้จากอุตสาหกรรมทุเรียนมากถึง 9,000 ล้านบาท โดยฟิลิปปินส์เริ่มการส่งออกทุเรียนไปสู่จีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวน 28 ตัน

ที่ผ่านมาจีนพัฒนาระบบการปรับปรุงพันธุ์พืช และกำลังส่งเสริมการปลูกทุเรียนพันธุ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วยลดราคาผลผลิตในประเทศ และส่งออกในอนาคต แต่กุญแจสู่ความสำเร็จของการปลูกทุเรียนในประเทศของจีน ยังมีความท้าทายอยู่ที่การพัฒนาทุเรียนจีนทั้งในด้านปริมาณที่ต้องมีเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และด้านคุณภาพที่ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนว่า จีนจะสามารถพัฒนาทุเรียนที่มีรสชาติดีกว่าทุเรียนนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างไร

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย