ประชุม​สุดยอดสื่อมวลชนลุ่มแม่น้ำ​ล้าน​ช้าง​-แม่โขง​ 2566 

0
13

การประชุมสุดยอดสื่อมวลชนลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง 2566 

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (People’s Daily) องค์กรสื่อสารมวลชนระดับชาติของจีน ได้จัดการประชุม​สุดยอด​สื่อมวลชนลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง​ ประจำปี​ 2566 โดยมีตัวแทนจากชาติสมาชิก​กลุ่ม​อนุภูมิภาค​ลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง​ (Lancang-Mekhong Cooperation​: LMC) อันประกอบด้วย จีน ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมรวมแล้วกว่าสองร้อยคน ณ Lecture Hall ของสำนักงานใหญ่ People’s Daily โดยท่านหลี่ซูเหล่ย (Li Shulei) กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้อำนวยการสำนักสารนิเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ​ สาธารณรัฐ​ประชาชน​จีน​ เป็น​ประธาน​เปิดการประชุม ส่วนทางฝ่ายไทย นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ หัวหน้าคณะผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะผู้แทนสื่อมวลชนไทย เป็นตัวแทนขึ้นกล่าวปาฐกถา นางสาวทวินันท์ คงคราญ รองผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ช่อง 5 นายนพปฎล รัตนพันธ์ จากเดลินิวส์ เป็นตัวแทนร่วมเสวนา นายชิบ จิตนิยม ผู้ดำเนินรายการจับจ้องมองจีน ทางเนชั่นทีวีเป็นตัวแทนเปิดการประชุม  อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ / จีนไทย​นิวส์ (www.jeenthainews.com) ได้รับเกียรติให้เป็นผู้เขียนบทความพิเศษเผยแพร่และเป็นผู้นำเสนอข่าวการประชุมในครั้งนี้  นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากไทยรัฐทีวี​ และ เนชั่นทีวี  เข้าร่วม​กิจกรรมฯ

คณะผู้แทนกว่า 130 คนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อกระแสหลักของ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงได้เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีการหารือเชิงลึกเกี่ยวกับการบรรลุสันติภาพและการพัฒนา ผลประโยชน์ร่วมกัน ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในภูมิภาค รวมถึงการมีส่วนร่วมสรรสร้างประชาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่มีอนาคตร่วมกันอันใกล้ชิดยิ่ง ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ เห็นพ้องว่าผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมได้ถูกส่งมอบแก่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมทั้ง 6 ประเทศแล้ว นับตั้งแต่มีการก่อตั้งกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และกรอบความร่วมมือนี้ได้ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างผู้คนใน 6 ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ กล่าวว่ามีศักยภาพมหาศาลสำหรับการดำเนินความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศในด้านต่างๆ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร การลดความยากจน ความมั่นคง และการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมแสดงความหวังว่าจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนใน 6 ประเทศผ่านความร่วมมือด้านสื่อ เสริมสร้างมิตรภาพและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และบอกเล่าเรื่องราวของประชาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้ดียิ่งขึ้น

People’s Daily มีส่วนสำคัญ​ในการเป็นผู้นำขับ​เคลื่อน​กลไก​ความร่วมมือ​ ​LMC​ ในกลุ่มสื่อมวลชนและนักวิชาการ ซึ่งมีการจัดการประชุมขึ้นมาตั้งแต่​ปี​ 2559 โดยบทบาทของสื่อมวลชนและกลุ่มนักวิชาการจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเผยแพร่ข่าวสารให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆของ LMC ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเปิดพื้นที่การหารือเพื่อลดความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยทำให้เกิดแรงผลักดัน​และสร้างการบูรณาการ​ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ​ สังคม  สิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนา​อย่างยั่งยื​น​​ในทุกมิติ​

กิจกรรมครั้งนี้ทาง  People’s​ Daily​ ได้จัดให้มีทั้งการประชุม การหารือ การดูงาน ตลอดตั้งแต่ระหว่าง​วันที่​ 26​ ​มิถุนายน ​- 5 กรกฎาคม​ 2566​ ณ​ กรุง​ปักกิ่ง​ นครกวางโจว และนครคุนหมิง​ สาธารณรัฐ​ประชาชน​จีน โดยได้มีการลงพื้นที่ประชุม ดูงาน​ในหลายๆ สถานที่ดังนี้

– การเยี่ยมชมศูนย์สื่อดิจิทัล ของ People’s​ Daily​ สำนักงานใหญ่ กรุงปักกิ่ง

– การประชุมร่วมกับผู้บริหาร China Energy Engineering Corporation กรุงปักกิ่ง หรือที่เรียกโดยย่อว่า “Energy China” บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ที่ทำฟาร์มโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในประเทศไทย

– การเข้าฟังรูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้านการสื่อสาร และ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สื่อ  (Media Museum) ของมหาวิทยาลัยนิเทศศาสตร์แห่งประเทศจีน (CUC – Communication University of China) กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งที่ผลิตบุคลากรชั้นนำเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน ของจีน  โดยพิพิธภัณฑ์นำเสนออุปกรณ์การสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่อต่างๆ ตั้งแต่ยุคต้นจนถึงปัจจุบัน โดยถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สื่อโดยเฉพาะที่ดีที่สุดของโลก

– การประชุมร่วมกับศูนย์การจัดการน้ำ ล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Water Center) กระทรวงน้ำ กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำทั้งหมดว่ามีอัตราการไหลผ่าน ไหลเข้าออกจากจุดต่างๆ ในแต่ละช่วงเท่าไร เพื่อนำข้อมูลมาหารือกันในระหว่างประเทศ

– การเยี่ยมชมโรงงาน Guangzhou Automobile Group หรือ GAC (รถยนต์แบรนด์ AION) นครกวางโจว ที่กำลังเปิดตัวและขยายโรงงานมาที่ไทยในปีนี้

– การทัศนศึกษา ชมอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลจู (Haizhu Wetland Park) หอกวางโจว (Canton Tower)  ที่ใช้ส่งสัญญาณโทรทัศน์  และ การล่องแม่น้ำจูเจียง

– การเยี่ยมชม China Southern Power Grid Company Limited (CSG)  นครกวางโจว ซึ่งเป็นองค์กรการไฟฟ้าภาคใต้ของจีน ที่ถือเป็นบริษัทที่ติด Top 100 ใน Fortune 500 โดยมีภารกิจหลักคือการให้บริการไฟฟ้าทั้งจากพลังน้ำ ถ่านหิน นิวเคลียร์ แก๊ส พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ เพื่อรองรับสำหรับยุทธศาสตร์ Digital China และ เชื่อมโยงความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ  รวมถึงบริการไฟฟ้าสำหรับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวด้วย

– การเข้าฟังการบรรยายใน Huawei Dongguan Campus เมืองตงกวน มณฑลกว่างตง  ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารทรงยุโรปขนาดใหญ่กว่า 100 อาคาร มีหอสมุด หอประชุม และ มีรถไฟภายในให้บริการกว่า 12 สถานี ระยะทางกว่า 7.8 กิโลเมตร โดยได้มีการบรรยายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับธุรกิจเหมือง   และ วงการการศึกษา ซึ่งพื้นที่นี้มีการใช้เป็นศูนย์วิจัย สำนักงาน ของหัวเว่ย ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30,000 คน และใช้เวลาสร้างกว่า 10 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท

– การนำคณะสื่อมวลชนชมสะพานหลิงติงหยาง (Lingdingyang)   สะพานข้ามทะเลเชื่อมเซินเจิ้น-จงซาน มณฑลกวางตุ้ง ที่กำลังเตรียมเปิดใช้ปี 2024 โดยสื่อมวลชนได้ขึ้นลิฟท์งานก่อสร้างเพื่อชมทัศนียภาพจากเสายอดของสะพาน ที่สูงกว่า 280 เมตร

– การเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยยูนนาน (Yunnan University)  ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน ตั้งอยู่ที่นครคุนหมิง โดยมีนักศึกษาทั้งจากประเทศต่างๆในอาเซียน รวมถึงไทย จำนวนมากกำลังศึกษาอยู่ โดยได้เข้าชมคณะนิเทศศาสตร์  โดยรองอธิการบดี และ เลขาธิการพรรคประจำคณะฯ ได้นำประชุมหารือ พร้อมนำชมห้องเรียนอัจฉริยะ สตูดิโอ หอสมุด

– การเยี่ยมชมและประชุมกับบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์ยูนนานเดลี่ กรุ๊ป (Yunnan Daily) นครคุนหมิง เยี่ยมชม ห้อง Command Center และ Media Lab โดย ซึ่งยูนนานเดลี่ เป็นหนึ่งในองค์กรสื่อสารมวลชนหลักในอนุภูมิภาคนี้ โดยทางยูนนานเดลี่ ได้มีการจัดทำนิตยสารแม่น้ำโขงเวอร์ชั่นภาษาไทย และสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นภาษาของชาติสมาชิก

– การเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงนครคุนหมิง หรือ  China Railway High-speed (CRH)  Kunming Depot  ซึ่งเป็นอู่ซ่อมบำรุงรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนด้วยความสามารถในการใช้งาน 10 ช่องซ่อม และ 58 ช่องเก็บรถไฟ โดยมีภารกิจดูแลรถไฟจีน-ลาวด้วย ทางอู่มีวิศวกร ช่าง พนักงานเกือบ 3,000 คน อู่แห่งนี้เติบโตมาจากยุครถไฟเดิม อายุองค์กรยาวนานกว่า 106 ปี โดยตั้งแต่มีรถไฟความเร็วสูงมาถึงคุนหมิงปี 2559 ภารกิจจึงยกระดับขึ้น

– การเยี่ยมชมฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้า  Fuyuan West Wind Farm มณฑลยูนนาน ของ SPIC Yunnan International Power Investment (SPICYN) ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 135 กังหัน ผลิตไฟได้ 800MW  ทางกลุ่มบริษัทนี้เริ่มตั้งกังหันเสาแรกเดือนเมษายน 2022 โดยตอนนี้มี 135 เสา  ช่วยลดการใช้ถ่านหินจากเดิมลงไปปีละ 6 แสนตัน และ กำลังมีโครงการจะมาร่วมมือกับทางประเทศไทยในปีนี้

– การนำคณะสื่อมวลชนทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนเหอเสีย (Hexie) ความจุประมาณ 1000 ที่นั่งไปกลับ สายคุนหมิง – เซี่ยงไฮ้  โดยเดินทางจากนครคุนหมิงไปสถานีฟูหยวน ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 295 กม./ ชั่วโมง โดยประเทศจีนมีรถไฟความเร็วสูงชนิดหลักๆ คือ รถไฟหัวกระสุนเหอเสีย (Hexie) และ รถไฟหัวกระสุนฟู่ซิง (Fuxing)