บทความ : ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันภาพรังสีลงทะเลแล้ว โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

0
1
(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 6 มี.ค. 2023)

ปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมือง Fukushima ห่างจากรุงโตเกียวไปทางเหนือ 250 กิโลเมตร ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มเมืองฟูคุชิมะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของบริษัท Tepco สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับโรงไฟฟ้าและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย จนทางบริษัทต้องตัดสินใจปล่อยน้ำเข้าไปเพื่อหล่อเย็นให้กับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ น้ำที่ปล่อยเข้าไปนับล้านตันในครั้งนั้น จึงกลายเป็นน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ทาง Tepco ต้องเก็บไว้ในโรงงานตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ บริษัท Tepco ได้สูบน้ำเพื่อหล่อเย็นให้กับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เข้าไปในถังขนาดใหญ่รวมแล้วกว่า 1000 ถัง ฝ่ายญี่ปุ่นอ้างว่าได้ทำการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนเหล่านั้นมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายได้รับการรับรองจาก หน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ และสำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA ว่าเป็นน้ำที่ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล สามารถทะยอยปล่อยน้ำลงทะเลได้ ญี่ปุ่นคิดว่าการเก็บน้ำไว้เรื่อยไปเช่นนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว ดังนั้นภายหลังการบำบัดแล้วก็เตรียมทยอยปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกทุกวันเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้เวลาในการปล่อยเป็นเวลา 30 ปีนับจากนี้ไป

การปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเลครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แม้แต่กับคนญี่ปุ่นเองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจับปลาและขายปลาทะเลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่วนประเทศที่อยู่นอกญี่ปุ่นยังมีความเห็นแตกต่างกันต่อเรื่องนี้ กลุ่ม Green Peace ซึ่งเป็นกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และจีนที่อยู่ห่างจากทะเลญี่ปุ่นเพียงนิดเดียวได้ยื่นหนังสือประท้วงญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ขณะที่เกาหลีซึ่งเป็นมิตรที่ดีกับญี่ปุ่นและประเทศตะวันตกที่อยู่ห่างไกลยังคงใช้ท่าทีนิ่งเฉย ไม่แสดงปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ กระทั่งมีบางเสียงเห็นด้วยกับญี่ปุ่นว่า น้ำปนเปื้อนที่ได้รับการบำบัดแล้วไม่อยู่ในสภาพที่จะเป็นผลร้ายต่อสัตว์น้ำและมนุษย์ สามารถปล่อยลงทะเลได้อย่างปลอดภัย

จีนเป็นประเทศที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของญี่ปุ่น เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตผู้คน ผู้นำจีนจะย้ำเสมอว่าให้ถือชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อเรื่องนี้ก็เช่นกันโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกหนังสือประณามญี่ปุ่นว่า เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ญี่ปุ่นควรหารือกับประชาคมโลกอย่างเต็มที่กว่านี้ ไม่ใช่คำนึงถึงความสะดวกและวิธีบำบัดที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุดเพียงอย่างเดียว การกระทำของญี่ปุ่นเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีทางศีลธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นไม่ฟังเสียงคัดค้านและเริ่มปล่อยน้ำเสียลงทะเลได้ไม่กี่ชั่วโมง จีนก็ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกชนิดจากญี่ปุ่นทันที ก่อนหน้านี้หนึ่งเดือนจีนได้สั่งห้ามนำสัตว์น้ำจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นใกล้กรุงโตเกียวและฟุคุโอกะมาก่อนแล้ว

ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจกับกระบวนการบำบัดที่ญี่ปุ่นใช้เป็นข้ออ้างแต่ก็ไม่กระจ่างเพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ แต่เท่าที่จับความได้ก็คือบริษัท Tepco ได้บำบัดด้วยการกรองน้ำที่เก็บไว้ในแท้งค์ผ่านระบบประมวลผลของเหลวชั้นสูงที่เรียกว่า ALPS ซึ่งมีผลทำให้สารกัมมันตรังสีที่เหลืออยู่ในน้ำมีค่าตามมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ ส่วนทริเทียมและคาร์บอน-14 ที่คงเหลืออยู่ก็เป็นสารที่แยกตัวออกจากน้ำได้ยาก และปกติสารดังกล่าวก็มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว

(แฟ้มภาพซินหัว : ถังกักเก็บน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 12 ต.ค. 2017)

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเลไปแล้วโดยไม่เคยเชิญบุคคลที่ 3 จากภายนอกที่เป็นกลาง หรือจากองค์กรสากลให้เข้าไปตรวจสอบสภาพน้ำปนเปื้อนด้วยตาตนเอง ข้อมูลที่ญี่ปุ่นให้แก่เจ้าหน้าที่ IAEA ก็เป็นข้อมูลจากญี่ปุ่นฝ่ายเดียว

ในส่วนของไทยยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อเรื่องนี้ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผ่อนคลายให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุโอกะได้ตั้งแต่ปี 2561 เมื่อรัฐไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการคุ้มครอง การจะรับหรือไม่รับอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยต้องตัดสินใจกันเอาเอง

ล่าสุดเช้าวันนี้เอง โทรทัศน์ญี่ปุ่นได้ถ่ายทอดให้เห็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมผู้บริหารระดับประเทศ ล้อมวงกันกินปลาดิบ (sashimi) เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ที่มาจากเมืองฟูกุโอกะโดยเฉพาะ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากชาวโลกให้เห็นว่า การบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของญี่ปุ่นได้ผลเชื่อถือได้ อาหารจากญี่ปุ่นปลอดภัย

กรณีปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล ไม่ว่าใครจะอ้างเหตุผลใด ปัญหาที่จะติดตามมาคือโลกจะต้องเผชิญปัญหาวิกฤตด้านอาหารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่างแน่ๆ จึงได้แต่หวังว่าญี่ปุ่นจะใช้ “จิตใจบูชิโด” กล้าเปิดเผยความจริงทั้งหมดให้ชาวโลกรู้อย่างลูกผู้ชาย อย่าปล่อยสารปนเปื้อนลงทะเลโดยคำนึงเพียงค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ใช้ต้นทุนต่ำ เป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยลดวิกฤตที่ไล่ล่าชีวิตมนุษย์บนโลกนี้ให้มีชีวิตที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน