สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐

0
416

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ โดยจะมีการสถาปนา ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์นี้ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) ท่านเคยเป็นพระมหาเถระผู้สนองงานใกล้ชิด เปรียบประดุจแขนซ้าย-ขวาอันสำคัญยิ่งของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง
– เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
– ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต)
– กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
– นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)
– ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (นับว่าท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ)

ผลงานอันเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย อาทิ งานด้านการศึกษา งานด้านสาธารณูปการ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานด้านการศึกษาสงเคราะห์ และงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ ฯลฯ

ตลอดระยะเวลาเกือบชั่วชีวิตในการครองสมณเพศใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา พระมหาเถระแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุตรูปนี้ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณสมบัติต่างๆ เป็นที่ยกย่องเชิดชูมากมาย ทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการ ตลอดจนเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร งดงามด้วยการครองตน เปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณเป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวาง

ประวัติและปฏิปทา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร)”
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อัตโนประวัติ

เมื่อครั้งที่ “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.๖)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ลำดับที่ ๕ ได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ยังความเศร้าโศกสลดอาลัยแก่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ในครั้งนั้น “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร ป.ธ.๖)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดในวัด ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส

ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาด้วยความเรียบร้อย และมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ สมควรได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ ๘๙ ปี (และจะครบ ๙๐ ปีในวันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ นี้) พรรษา ๖๘ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

๏ การบรรพชาและการอุปสมบท

ต่อมาเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น พ.ศ. ๒๔๘๓ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๘๔ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๘๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร)

ครั้นต่อมา สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ. ๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

ต่อมา ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าประคุณสมเด็จมีอายุ ๘๙ ปี ๖๘ พรรษา เจ้าประคุณสมเด็จ พระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เกิดปีเดียวกับพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แต่มีอายุเดือนมากกว่ากว่า ๓ เดือน

๏ งานด้านการศึกษา

– เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร

– เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี

– เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นต้น

– พ.ศ. ๒๕๕๒ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

– พ.ศ. ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

๏ งานด้านสาธารณูปการ

– เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

– เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น

๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

– เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒ ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย

– เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

๏ งานด้านการศึกษาสงเคราะห์

– ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

– เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

๏ งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

– เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

– ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต)

– กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

– กรรมการคณะธรรมยุต

– นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)

– กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

– แม่กองงานพระธรรมทูต

– ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (นับว่าท่านเป็นศิษย์พระอาจารย์ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ)

– พระอุปัชฌาย์

๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย

 

 

ข้อมูลเนื้อหา คัดลอกจากเว็ปธรรมจักรดอทเน็ท โพสต์โดย คุณสาวิกาน้อย

ภาพถ่าย “ในงานทอดผ้าป่าสร้างหลังคาพระอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล” ณ วัดป่ามณีกาญจน์ จ.นนทบุรี ถ่ายโดย เอ ท่องถิ่นธรรม

อ้างอิง  https://www.facebook.com/thindham/posts/1405722822811588