การประชุมสถาบันขงจื่อ 97 สถาบัน จาก 31 ประเทศทวีปเอเชีย

0
644

การประชุมสถาบันขงจื่อ 97 สถาบัน จาก 31 ประเทศทวีปเอเชีย ในหัวข้อ เรื่อง ‘One Belt One Road’

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พระพรหมมังคลาจารย์(เจ้าคุณธงชัย) ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล นาย หลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายเซี่ยเจี้ยนฮุย รองผู้อำนวยการสำนักงานฮั่นปั้นสำนักงานใหญ่ ดร.โจวเกาอวี่ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา(เลขานุการเอก) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

เมื่อเช้าวันนี้ (9 ก.ย. 60) เวลา 09.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานร่วมกับ ฯพณฯ นาย หลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดงานการประชุมสถาบันขงจื่อ ในเขตทวีปเอเชีย ในหัวข้อ เรื่อง ‘One Belt One Road’ จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำโดย ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีฯ และ สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (Office of Chinese Language Council International หรือ Hanban : ฮั่นปั้น) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ ถนนพญาไท

การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นทบทวนการทำงานของสถาบันขงจื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” ของรัฐบาลจีน และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันขงจื่อ ของสำนักงานฮั่นปั้น การประชุมมีขึ้นในวันที่ 9 – 10 กันยายน 2560

ในพิธีเปิดการประชุม มล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศาสตราจารย์จิงหงหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเซี่ยเจี้ยนฮุย รองผู้อำนวยการสำนักงานฮั่นปั้น และนายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดการประชุม โดยมีพระพรหมมังคลาจารย์(เจ้าคุณธงชัย) ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลร่วมเป็นเกียรติด้วย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า “จริยธรรมของท่านขงจื่อเป็นเรื่องที่ตรงกับความเชื่อมั่นของบรรพชนคนไทยมาแต่โบราณ และเป็นไปตามพระราชดำรัสคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะคำสอนว่าด้วยเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร การรู้จักแยกแยะความดีและความไม่ดี ความรู้รักสามัคคี การสร้างคุณงามความดีเป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย เช่นเดียวกับปรัชญาความเชื่อที่ว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของโลก ของสังคม เกิดมาจากปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นบ้านเมืองต้องเร่งพัฒนาคนให้ดีมีมาตรฐานที่เรียกว่า ระบบการศึกษาที่ดีทำให้คนมีพัฒนาการไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหากมีคุณธรรม แล้วสังคม ประเทศ ก็จะดีขึ้นตามโดยปริยาย การที่จะเป็นคนดีได้นั้น ประการสำคัญ จะต้องได้รับการศึกษาที่ถือเป็นหัวใจของการดำรงชีวิตของคนทุกคน การได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษา หรือจะศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองก็ได้ อย่างที่ปัจจุบันเรียกกันว่า  Home Schools  คือ มีพ่อแม่เป็นครูอาจารย์สั่งสอนอบรมเองที่บ้าน ลูกหลานได้ดีมีความสุขความเจริญจากอ้อมอกบุพการี เมื่อคนมีการศึกษาก็จะทำให้รอบรู้ คือ รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญ หรืออะไรเป็นไปเพื่อความเสื่อม เมื่อตนรู้ก็จะหาทางหลีกเลี่ยงความเสื่อมแล้วดำเนินไปสู่ความเจริญ

ตามที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาเรียนรู้มาแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ปรัชญาของขงจื๊อมีความเชื่อว่า โดยธรรมชาติทุกคนมีอัธยาศัยที่ดีงามมาแต่เกิด แต่ที่มาแตกต่างกัน เป็นคนดี คนชั่ว คนฉลาด คนฉลาดแกมโกง หรือคนโง่ ก็เพราะการศึกษาอบรม พ่อแม่ เพื่อนฝูง อย่างเช่น คนที่มีการศึกษาอบรม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ย่อมจะรู้จักปรับปรุงตนให้ดีขึ้น สละความไม่ดีทิ้งออกไป ก็จะยังผลให้เป็นคนดี แต่ถ้าไม่รู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็เป็นคนชั่ว ซึ่งถือเป็นเวรกรรม การไม่อบรมตนให้มีคุณธรรม การไม่เสาะแสวงหาความรู้ กับอีกประสบความชอบธรรมแล้วไม่อนุวัตรตามความชอบธรรมนั้น การไม่สละความผิดด้วยการปรับปรุงตนใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ ความไม่เป็นสุขของคน การมุ่งมั่นรักษาคุณธรรมจริยธรรมที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามปรัชญาของขงจื๊อ ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในความเป็นแบบอย่างของการพัฒนาประเทศ ผู้คนมีทัศนคติของความรักชาติบ้านเมือง ดำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันสูงส่ง สังคมมุ่งสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ที่ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชม”

นอกจากนี้ ด้านหน้าของห้องประชุมยังมีการจัดงานนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานของสถาบันขงจื่อ 82 แห่ง และการแสดงด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย – จีน 5 ชุดด้วยกัน รวมถึงเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับการพัฒนาสถาบันขงจื่อ” ด้วย