3.15 ตรวจ ตาม จับสินค้าปลอมด้อยคุณภาพ

0
215
กิจกรรมให้ความรู้ต่อประชาชนและแนะนำวิธีการแยกแยะสินค้าจริงกับปลอม (ที่มาภาพ : http://lynews.zjol.com.cn/lynews/system/2018/03/14/030763036.shtml)

ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสมือนรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่วิ่งด้วยความเร็วสูง แต่น่าประหลาดใจ สินค้าที่ขนส่งอย่างเร็วนั้นไม่ได้ดีเสมอไป กลับกลายเป็นสินค้าปลอมและด้อยคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องมี 3.15 ซึ่งเปรียบเสมือนตำรวจจราจรที่คอยตรวจ ตาม จับสินค้าและบริการด้อยคุณภาพเหล่านี้ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค

แล้ว 3.15 คืออะไรกันนะ? มีความสำคัญอย่างไร? ชาวจีนจัดกิจกรรมอะไรบ้าง? 

3.15 หรือ วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี คือ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายประชาสัมพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรผู้บริโภคในประเทศและภูมิภาค และเพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภคในบริบทระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลได้บัญญัติสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐานไว้ 8 ประการ ดังนี้

1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ
3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ
5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม
6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย
7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค
8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

(ที่มาภาพ : http://www.58pic.com/jieri/19417415.html)

สำหรับชาวจีน เรียกวันนี้ว่า 3.15 ออกเสียงว่า “ซาน เยา อู่” ในพื้นที่ต่างๆ มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่อประชาชนและแนะนำวิธีการแยกแยะสินค้าจริงกับปลอม มีการจัดตั้งคอลัมน์โฆษณาเกี่ยวกับ 3.15 และสายด่วน 12315 ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการรับข้อร้องเรียนของผู้บริโภค อีกทั้งรัฐบาลจีนยังสั่งทำลายสินค้าปลอมไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก และสั่งลงโทษผู้ที่ผลิตอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายการที่ได้รับความสนใจอย่างมากทาง สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งชาติจีน หรือ CCTV ช่องเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งจัดรายการพิเศษ “มิตรรักผู้บริโภคจีน” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1991 เพื่อเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังการเอารัดเอาเปรียบ หรือกลยุทธ์การหลอกลวงผู้บริโภคทั้งหลาย เพื่อสร้างความตระหนักและความสามารถในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้บริโภค

รายการพิเศษ “มิตรรักผู้บริโภคจีน” ช่องเศรษฐกิจการเงิน สถานีโทรทัศน์ CCTV (ที่มาภาพ : 315.cntv.cn)

สำหรับปีที่แล้วมี ประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาเปิดเผยในรายการ คือ การหลอกขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ
ในปี 2018 นี้ มีตัวอย่างรายชื่อผู้ประกอบการกว่า 300 ราย ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างใกล้ชิด คาดการณ์ว่าสินค้าและบริการที่ถูกเปิดโปง ได้แก่

1. ระบบรถจักรยานเช่าสาธารณะ
2. E-Commerce ปลอม
3. การจัดส่งสินค้า
4. การถ่ายภาพโป๊-เปลือย ค้ำประกันเงินกู้ในสถานศึกษา
5. ธุรกิจ 1 หยวน
6. ธุรกิจถ่ายทอดสด

แม้ว่าจะมีกฎหมายและสิทธิคุ้มครองผู้บริโภคสากล แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการมักง่ายผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นผู้บริโภคควรเรียนรู้ที่จะแยกแยะสินค้าและบริการจริงกับปลอม เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการ

ขอบคุณข้อมูลจาก:
http://www.indyconsumers.org/…/47-in…/handbook/194-571120002
http://www.zhicheng.com/n/20180312/205653.html

เรียบเรียง: กรรณภัสร์ เกตุชาติ