การศึกษา 4.0 เป็นยิ่งกว่าการศึกษา

0
4334

สรุปความจากงานเสวนา “การศึกษา 4.0 เป็นยิ่งกว่าการศึกษา”

จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00 – 15.00 น.
ณ ห้องประชุมอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ

กล่าวเปิดงาน/ให้ข้อคิดเห็นการวิจัย 4.0 โดย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

วิทยากรเสวนานำโดย
1. รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
รางวัลนักเขียนบทความดีเด่นประจำปี 2557 กองทุนหม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล
หัวข้อ “การศึกษาในโลกยุค 4.0”
2. ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา
หัวข้อ “ไทยแลนด์ 4.0 กับนโยบายการศึกษา”
3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์อาวุโส วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อดีตคณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ผู้เขียนหนังสือ “การศึกษา 4.0 เป็นยิ่งกว่าการศึกษา”
หัวข้อ “โรงเรียนกับครูอยู่อย่างไรในยุค 4.0”

ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สินธะวา คามดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ตำรา วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สรุปความ

รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ : ทิศทางของประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการ “สร้างคนไทย 4.0” ซึ่งจะมาจาก “การศึกษา 4.0”  ซึ่งการแสวงหาองค์ความรู้ด้านการศึกษาเดิมนั้น มุ่งไปที่  การวิจัยเชิงสำรวจ อธิบายปรากฏการณ์  การอธิบายตัวแปร  ซึ่งก็ยังเป็นคำตอบในเชิงกว้าง  จนในยุค 4.0 งานวิจัยด้านการศึกษา จะเน้นตอบโจทย์ให้ตรงประเด็น มี Solutions มี Innovations มากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ : 4.0 นั้นมาจากการจัดแบ่งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม พลังไอน้ำ -> พลังไฟฟ้า -> พลังไอที -> ยุคผสมผสาน ต่อยอด ทางเทคโนโลยี อย่างหลากหลาย  (เช่น 3D Printing  AI IoT Robot Wifi )

ส่วน Thailand 4.0 นั้นมุ่งที่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อันเป็นโมเดลของรัฐบาลปัจจุบัน  ที่เน้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  โดยล้อเป็น 4 ช่วงเช่นเดียวกัน คือ ยุค 1.0 เกษตรกรรม -> ยุค 2.0 อุตสาหกรรมเบา -> ยุค 3.0 อุตสาหกรรมและส่งออก -> ยุค 4.0 ตั้งใจสื่อว่า เป็นยุคที่จะทำให้เป็นยุคเศรษฐกิจใหม่ มีรายได้ที่สูงขึ้น  จากที่ตอนนี้ อยู่ที่ยุค 3.0 เจอกับดักรายได้ปานกลางอยู่ รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี คงที่มายาวนานมาก

ประเทศไทย จึงพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ Valued Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นวิชาการ วิจัย ความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้านวัตกรรม เปลี่ยนจากผลิตสินค้าเป็นการผลิตบริการ   โดยได้ยกตัวอย่างกรณีรองเท้ายี่ห้อหนึ่ง ที่ได้ไอเดียทำดอกยาง จากเครื่องทำวาฟเฟิล

สำหรับประเทศไทย น่าจะเน้นได้ตามกลุ่มดังนี้ เช่น กลุ่มอาหาร เกษตร เทคโนโลยี ชีวภาพ ออร์แกนิค  กลุ่มสาธารณสุข การแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ   กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ เครื่องกล  กลุ่มดิจิทัล การใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อบังคับการ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม

แต่เรื่อง “การศึกษา 4.0” น่าจะมีความหมายที่น่าจะพิจารณาให้กว้างกว่าแค่ การตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจ  4.0 ที่แท้ควรที่จะไม่ได้มองแค่ว่าคนเป็นแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่มองในความเป็นพลเมือง จะทำให้เราไปได้ไกลกว่า และ ช่วยจุดประกายให้คนตื่นขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปให้เกิดอะไรมากกว่านั้น

ดร.กมล รอดคล้าย : ข้อเสนอระยะเร่งด่วน(1-3 ปี) ของการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ประเทศไทย 4.0 นั้น ต้องเน้นเสริมสร้างศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ รวบรวมจัดระบบข้อมูลผู้ที่มีความสามารถพิเศษ เน้นการอบรมพัฒนาขีดความสามารถ  และมอบหมายโครงงานสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของประเทศ  นอกจากนั้นภาครัฐต้อง พัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษา ให้เน้นเป็นผู้ประกอบการ  และ เป็นผู้ปฎิบัติงานที่เป็นฐานผลิตใหม่ของประเทศไทย ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคน งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงประเทศจะนำเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าจะก้าวสู่ Thailand 4.0  ต้องไม่ลืมหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องมีหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ
ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ : การศึกษาในอดีตสมัยก่อนนั้นเป็นการศึกษาบริโภคนิยมที่สอนให้คนถนัดในการซื้อ กิน และใช้ ซึ่งถ้ายังเป็นอย่างนี้ การศีกษาไทยจะแย่ ดังนั้น การศึกษายุคใหม่ต้องไม่ใช่การผลิตผู้บริโภค แต่ต้องสร้างนักผลิต โดยการศึกษา 4.0 เป็นการสอนให้เด็กมีผลผลิต มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยประกาศเป็นมหาวิทยาลัย 4.0  ไม่ใช่เพียงปรับปรุงสถานที่ให้สวยงาม แต่ต้องเป็นการผลิตนวัตกรรม สินค้าที่เป็นประโยชน์  โดยการศึกษาเดิมเริ่มจากการสร้างความรู้ สร้างให้เข้าใจ ต่อมาก็ต้องปรับให้รู้จักคิดวิเคราะห์ตีความ ทำงานเก่ง แต่การศึกษา 4.0 ไม่ได้เพียงเท่านั้นต้องเป็นการสร้างทำให้ผู้เรียนสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมใหม่ออกมาได้โดยกระบวนการศึกษา ต้องให้เด็กได้แสวงหาโอกาส นำไปสู่การออกแบบ คิดวิเคราะห์ จากนั้นลงมือปฎิบัติ และนำสู่การสร้างผลผลิตออกมาใช้ประโยชน์  การจัดการศึกษาไทย 4.0 จะเกิดขึ้นจริง ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากผู้บริหาร ผู้สอนต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบเอาคะแนนสูง ทำให้นักเรียนถูกจำกัดอยู่ในกรอบ ไม่สามารถคิดนอกกรอบได้  ครูต้องให้เสรีภาพเด็กเลือกเรียนตามความถนัด โดยส่งเสริม เติมเต็มตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคมาก รวมถึงต้องเป็นเป้าหมายการศึกษาของชาติ  สร้างเด็กสร้างนวัตกรรม  เลิกการบรรยาย แต่ให้เด็กได้ลงมือทำ เด็กทุกคนต้องมีผลงานและเห็นความสำเร็จอยู่ที่ผลงาน การเรียนการสอนทุกวิชาต้องเป็นแบบเดียวกัน มีการดำเนินการต่อเนื่อง  และทุกคนต้องร่วมมือกันทำ
คลิปการเสวนา
https://www.facebook.com/cubook/videos/10154336632263506/

ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์