นาซ่าพบหลักฐานชี้ ดาวอังคารมีคาร์บอนไดออกไซด์ไม่พอละลายน้ำแข็ง

0
288

นาซ่าได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.พ. 2017) โดยมีเนื้อหาว่า ถึงแม้ “Curiosity” รถโรเวอร์สำรวจดาวอังคารของนาซ่า จะเคยเก็บตัวอย่างหินมาจากหลุมอุกาบาตรเกล (Gale Crater) ที่ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเคยเป็นทะเลสาบเก่าแก่มาก่อน แต่ดาวเคราะห์สีแดงนี้กลับมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยเกินไป ที่จะทำให้เกิดความร้อนจากปรากฏการณ์แก๊สเรือนกระจกจนสามารถละลายน้ำแข็งได้

โดยปกติเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำบนพื้นผิวโลก มันจะทำปฏิกิริยากับธาตุและสารประกอบอื่นๆ จนเกิดเป็นแร่คาร์บอเนตอยู่ที่ก้นของแหล่งน้ำ แต่ทว่า ตัวอย่างหินที่รถโรเวอร์เก็บกลับมาจากหลุมอุกาบาตเกลเมื่อปี 2011 กลับไม่พบหลักฐานของสารคาร์บอเนตที่แน่ชัด

แม้ว่าดาวอังคารจะมีสภาพหนาวและแห้ง แต่ก็มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ ครั้งหนึ่งเคยถูกปกคลุมด้วยแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

นายโทมัส บริสโทว (Thomas Bristow) จากนาซาได้กล่าวว่า แม้บนดาวอังคาร จะมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มากกว่าข้อมูลที่ตัวอย่างหินที่เก็บได้มานี้บอกเรา มันก็ยังถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะสามารถพบน้ำบนดาวอังคารได้