​สค. จับมือ กทม. ปั้น 6 ชุมชนต้นแบบสตรีปลอดภัยไร้ความรุนแรง

0
380

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา นางพัชรี อารยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ  กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรีในกรุงเทพมหานคร และบรรยายพิเศษเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรี: ทิศทาง การดำเนินงานเพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรีที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก นางรัตนา  สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง ความรุนแรงต่อสตรีในบริบทความเป็นสากล ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ

นางพัชรี อารยะกุล กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินโครงการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรีในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สตรีมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น ลดความรุนแรงต่อสตรี สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยมีชุมชนใน กทม. เข้าร่วมโครงการฯ รวมจำนวน 6 ชุมชน  ประกอบด้วย

   1) ชุมชนริมคลองบางซื่อรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง

   2) ชุมชนหลังโรงกรองน้ำภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่

   3) ชุมชนหน้าวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ

   4) ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ

   5) ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร

   6) ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย

สำหรับในวันนี้ เป็นการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรีในกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนและทบทวนแผนปฏิบัติการของชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการมาเป็นลำดับ และแต่ละชุมชนได้จัดทำแผนปฏิบัติการของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นการทำงานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งผู้แทนชุมชนดังกล่าวข้างต้น ได้กรุณาเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดแผนปฏิบัติการเพื่อลดความเสี่ยงของชุมชนจากเหตุเภทภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชน ซึ่งในจำนวนนั้น รวมเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงไว้ด้วย ซึ่งกระบวนการประชุมฯ จะเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงต่อสตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้มีฐานความคิดสำหรับการทบทวนแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการต่อเนื่องในช่วงบ่าย โดยมีวิทยากรจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทั้ง 6 ท่าน เข้ามาช่วยในด้านกระบวนการคิด
ในปี 2560 นี้ ทิศทางการทำงานในเรื่องความรุนแรงต่อสตรี ในระดับภูมิภาคอาเซียน ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนกับการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับประเทศ ที่ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี การจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อสตรี และการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบต่อสตรี ผนวกกับเมื่อต้นปีงบประมาณ 2560 นี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรุนแรงต่อสตรีอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จึงได้ต่อยอดการดำเนินงานให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรีในกรุงเทพมหานคร มีความกว้างขวาง ครอบคลุม ทั้งพื้นที่ในบ้าน ในชุมชน และในที่ทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางการทำงานของประชาคมอาเซียนดังกล่าว นางพัชรีกล่าวในตอนท้าย