กทม.เดินหน้าขยายการเรียนการสอน 2 ภาษา โรงเรียนในสังกัด

0
554

(6 พ.ค. 60) นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายด้านการศึกษาและทิศทางการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานคร แก่ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา 50 สำนักงานเขต และผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานครมักประสบปัญหาบุคลากรครูย้ายบ่อย เนื่องจากครูส่วนใหญ่เมื่อสอบติดแล้วทำงานไปสักพักก็จะย้ายกลับภูมิลำเนา ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การให้ทุนการศึกษากับครูในพื้นที่ ฯลฯ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาพบว่าครูบางคนมุ่งทำวิทยฐานะจนไม่ได้สอนหนังสืออย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ตั้งใจสอนเด็กกลับไม่มีวิทยฐานะ อีกทั้งยังพบว่ามีครูสอนความรู้ให้เด็กไม่หมด หากเด็กจะได้ความรู้ต้องเสียเงินไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมหรือเรียนส่วนตัวกับครู ดังนั้นครูทุกคนต้องมีความตั้งใจในการสอนเด็ก และโรงเรียนต่างๆ ต้องลดความเหลื่อมล้ำกัน ที่สำคัญเห็นด้วยกับกรุงเทพมหานครในนโยบายการเพิ่มจำนวนโรงเรียน 2 ภาษา เนื่องจากเป็นโอกาสดีที่จะสร้างการศึกษาให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในการสอนเด็กของโรงเรียน 2 ภาษานั้น อยากให้เน้นการสอนภาษาอังกฤษในวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากภาษาอังกฤษในวิชาคณิตศาสตร์เด็กจะไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ควรจะเน้นในวิชาสังคมศึกษา สุขศึกษา หรือพละศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งในการสอนครูควรคิดค้นการสอนแบบใหม่ๆ น่าสนใจ เพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ด้านนางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงทิศทางการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายเพิ่มการเรียนการสอน 2 ภาษาในโรงเรียนในสังกัดให้มากขึ้น ซึ่งโรงเรียนที่มีการสอน 2 ภาษา ขณะนี้ได้จัดเตรียมและจ้างครูภาษาอังกฤษ และภาษาจีนพร้อมแล้ว ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่มีการจัดการเรียนสอน 2 ภาษา ในอนาคตสามารถเปิดการเรียนการสอน 2 ภาษาได้ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวทั้งครูและเด็กนักเรียน ขอให้ผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารสถานศึกษาหารือร่วมกันเพื่อเดินไปตามแนวทางและนโยบายที่วางไว้ ทั้งนี้ การเรียนการสอน 2 ภาษาที่ไม่ใช่การเปิดสอนระบบ EP เต็มรูปแบบเนื่องจากคงจะทำได้ยาก แต่อยากให้เป็นการสอน 2 ภาษาที่ให้เด็กมีความสุข และสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน ด้วยการนำภาษาอังกฤษและภาษาจีนสอนแทรกในวิชาต่างๆ โดยกรุงเทพมหานครพร้อมให้การสนับสนุนการเรียนการสอน 2 ภาษาอย่างเต็มที่