พม. เร่งขับเคลื่อนแผนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

0
329

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรีอย่างเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2560 เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม

พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สืบเนื่องจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรีอย่างเร่งด่วนนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 1. มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1) ประกาศนโยบายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานต้นแบบต่อต้านพฤติกรรมการเลี้ยงดูปูเสื่อ 2) บูรณาการเพื่อจัดระเบียบทางสังคมร่วมกับท้องที่และชุมชน ทั้งในส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร รวมถึง การตรวจตราสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง 3) บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประกอบด้วย บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อประสานการใช้ทรัพยากร และประสานการส่งต่ออย่างเป็นระบบ เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ภายใต้แนวคิด “บ้านเดียวกัน” 4) วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้รับบริการศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อค้นหาและคัดแยกผู้เสียหายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมออกตรวจเยี่ยม 5) จัดทำแผนการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี โดยกลไกคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ประจำจังหวัด (กคอ. จังหวัด) 6) ปฏิบัติการข่าวสาร (IO : Information Operation) และ 7) รายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี ทุก 3 สัปดาห์

2. มาตรการระยะกลาง ได้แก่ 1) รณรงค์ “หยุดซื้อบริการ หยุดการค้ามนุษย์” ในพื้นที่จังหวัดตะเข็บชายแดน 2) สร้างความตระหนักผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชน อาทิ เพื่อนช่วยเพื่อน DJ TEEN 3) สร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัว 4) ฝึกอาชีพให้กับครอบครัว และ 5) สร้างวิทยากรป้องกันการถูกล่อลวง

และ 3. มาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นหน่วยงานต้นแบบ ต่อต้านวัฒนธรรมการเลี้ยงดูปูเสื่อ 2) ปฏิบัติการข่าวสาร (IO : Information Operation) และ 3) ส่งเสริมกลไกสภาเด็กและเยาวชน กลไกด้านครอบครัว ให้สามารถดำเนินการป้องกันการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้มีการดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมายให้มีเข้มงวดยิ่งขึ้น ต่อเป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการค้าบริการ กลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กและเยาวชน รวมทั้งสื่อลามก ซึ่งหน่วยงานหลักที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปกครองท้องถิ่น ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปดูแลเสริมในเรื่องคัดแยกคัดกรอง การคุ้มครองกลุ่มเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เป็นการดำเนินงานรูปแบบบูรณาการกันทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ จะเร่งให้มีการใช้สื่อ Social media เพิ่มมากขึ้น ในการสร้างความเข้าใจถึงหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าประเวณีเด็ก รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ไปยังเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง พร้อมทั้งเน้นกลไกครอบครัวและกลุ่มสตรี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทุกจังหวัด บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลี้ยงดูปูเสื่อผู้บริหาร เน้นการต้อนรับอย่างเรียบง่าย โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นแบบอย่างที่ดี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรีได้ โดยหากพบเห็นการกระทำความผิดหรือกลุ่มเสี่ยง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง