สวัสดี วู้ดวินด์ ควินเต็ด : วงดนตรีคลาสสิคของคนไทย ร่วมสานสัมพันธ์ไทยจีน

0
706

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2560  ณ ศาลาสุทธสิริโสภา เวลา 16.00 น. ได้มีการแสดงดนตรีของวงสวัสดีวู้ดวินด์ควินเต็ด(Sawasdee Woodwind Quintet)วงเครื่องลมไม้ที่รวมนักดนตรีและครูดนตรีคลาสสิคที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาไว้ด้วยกัน ได้แก่

อ.กัลยาณ์ พงศธร (นักฟลูต) อาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

อ. คมสัน ดิลกคุณานันท์ (นักเฟรนช์ฮอร์น) อดีตรักษาการคณบดีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ปัจจุบันลาศึกษาระดับปริญญาเอก ณ Universityof Iowa สหรัฐอเมริกา

อ. สุมิดา อังศวานนท์ (นักเปียโน) อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ. ธีระพงษ์ ทรัพย์มูล (นักคลาริเน็ต) นักดนตรีประจำ ตำแหน่งดุริยางคศิลปินชำนาญงาน National Symphony Orchestra กรมศิลปากร และอาจารย์พิเศษคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ. กิตติมา โมลีย์ (นักบาสซูน) อาจารย์ประจำวิชาเครื่องเป่าลมไม้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ. สมชาย ทองบุญ(นักโอโบ) ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มโอโบ ประจำวง Thailand Philharmonic Orchestra

โดยวงสวัสดีวู้ดวินด์ควินเต็ด(เรียกย่อๆว่าวงสวัสดี) นอกจากจะเป็นการร่วมตัวของดนตรีเครื่องลมไม้ที่มีชื่อเสียงจำนวน 5 ชิ้นที่เรียกว่า ควินเต็ด แล้ว ที่มีน้อยวงบนโลกแล้ว วงสวัสดียังมีงานแสดงอย่างต่อเนื่อง เคยเข้าแข่งขันที่ประเทศรัสเซีย ได้รับรางวัลจากการแข่งขันตลอดจนได้รับเชิญไปแสดงและบรรยายที่ประเทศสิงคโปร์และที่ต่างๆ ล่าสุด วงสวัสดีได้รับเชิญจากงานดนตรี 2017 China-ASEAN Music Festivalไปแสดงที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนักดนตรีจากประเทศต่างๆ โดยบทเพลงที่แสดง มีทั้งบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงสำเนียงจีนสำเนียงไทยที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ร่วมสมัยของทั้งไทยและจีน โดยมีทั้งบทเพลงที่มีลักษณะฟังง่ายและมีลักษณะเป็นSerious Musicสลับกันไป

ในครั้งนี้ อาจารย์ณัฐ ยนตรรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันดนตรีณัฐสตูดิโอ ปรมาจารย์ด้านเปียโนอันดับต้นของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ผู้จัดงานในครั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “โดยปกติศาลาสุทธสิริโสภานี้ จะมีการเชิญนักดนตรี ชาวต่างชาติและชาวไทย ซึ่งวงดนตรีเครื่องเป่าที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ก็คือวงสวัสดีนี้เอง และเนื่องจากวงสวัสดีเพิ่งกลับมาจากการแสดงที่จีน เราจึงได้จัดงานนี้ขึ้นโดยเป็นงานดนตรีที่เกี่ยวกับจีนครั้งแรกของเรา ซึ่งในอนาคตเราก็อยากจะมีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมวัฒนธรรมเกี่ยวกับจีนมากกว่านี้ด้วย”

จากนั้นสมาชิกวงสวัสดี ได้เล่าถึงความประทับในในการได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานที่ประเทศจีนที่ผ่านมาว่า

“งาน China-ASEAN Music Festival นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว ด้วยเจตนารมณ์อันดีในการส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมดนตรี รวมถึงสื่อสารผ่านวัฒนธรรมของหลากหลายชนชาติด้วยดนตรีซึ่งเป็นภาษาสากล

ผู้นำในการจัดงานได้แก่ Guangxi University of Arts มีนักประพันธ์ร่วมสมัย ตลอดจนศิลปินนักแสดงทั้งรุ่นเยาวชนและมืออาชีพเข้าร่วมกว่าร้อยชีวิต การจัดงานได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลจีน ทำให้การจัดการดูแลต้อนรับทำได้อย่างทั่วถึงไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมอย่างดี อาหารทั้งสามมื้อ การการรับส่งระหว่างโรงแรมและหอแสดง ไปจนถึงการจัดนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มาคอยดูแลศิลปินแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด เแม้ว่าจะมีอุปสรรคด้านภาษาอยู่บ้าง แต่นักศึกษาเหล่านี้ก็มีความคล่องแคล่วกล้าตัดสินใจและดูเป็นผู้ใหญ่ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่า

ในเทศกาลนี้มีการแสดงขนาดเล็กและใหญ่หลายครั้งต่อวันและมีทุกวันตลอดเทศกาล หากแต่ได้รับความสนใจจากผู้ชมชาวหนานหนิงอย่างเนืองแน่นเสมอ โดยการแสดงขนาดเล็กจะจัดในหอแสดงของมหาวิทยาลัย และการแสดงขนาดใหญ่ที่ใช่นักดนตรีจำนวนมากจะจัดขึ้นที่หอแสดงหลักของเมืองซึ่งจุผู้ฟังได้กว่าพันคน โดยแม้บทเพลงที่ถูกนำเสนอจะค่อนข้างฟังยาก การแสดงยาว 2-3 ชั่วโมง ก็จะมีผู้เข้าฟังเต็มทุกครั้ง

สาเหตุที่เมืองหนานหนิง ได้เป็นผู้จัดงาน China-ASEAN Music Festival นั้น เนื่องจากว่าเมืองอยู่ในตำแหน่งจุดยุทธศาสตร์ที่ใกล้กลุ่มประเทศอาเซียน ที่สามารถเดินทางมาได้โดยสะดวกกับทั้งเป็นเมืองที่อยู่กำลังในช่วงพัฒนา รัฐบาลจึงเห็นว่าเมืองหนานหนิง เป็นเมืองที่เหมาะสมในการที่จะเป็นจุดเชื่อมด้านศิลปะวัฒนธรรมของจีนและอาเซียน จึงได้มุ่งเป้าพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของการจัดงานดนตรีในครั้งนี้

ซึ่งการจัดงานที่ยิ่งใหญ่จนประสบความสำเร็จขนาดนี้ ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายและมีวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน จึงทำให้สามารถกำหนดนโยบายและเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่องานด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”

อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) และ อาจารย์ณัฐ ยนตรรักษ์ นักเปียโน นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของไทย

อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) ผู้ซึ่งมีงานอดิเรกเป็นนักเปียโนและครูสอนวิทยายุทธจีน ที่ได้เข้าชมการแสดงในครั้งนี้ ได้กล่าวกับเราว่า

“ผมเองได้มีโอกาสติดตามผลงานของวงสวัสดีนี้มานาน ได้เห็นวงนี้มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วงสวัสดีได้มีโอกาสไปแสดงที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในแง่มุมด้านศิลปวัฒนธรรม

การแสดงในครั้งนี้ตลอดจนกิจกรรมที่ประเทศจีนที่ผ่านมานั้น ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(OBOR – One Belt One Road) และแนวคิดเส้นทางสายไหมทางทะเล ของท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เน้นหนักในเรื่องของการเชื่อมโยงวัฒนธรรมอย่างมาก

หลังจากการแสดงครั้งนี้จบลงแล้ว ผมได้มีการวางแผนและปรึกษากับผู้บริหารของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ในการที่จะเชิญวงสวัสดีนี้มาเล่นในงานวัฒนธรรมที่เราจะจัดขึ้นช่วงปลายปี โดยเราค่อนข้างมั่นใจว่าการแสดงของวงสวัสดีนี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังชาวไทยและชาวจีนได้อย่างแน่นอน”