ข้างหลังภาพ ข้างหลังพระ หลายมุมชีวิตของอำพล ถาวรโลหะ

0
1757

หลังจากที่อำพล ถาวรโลหะ หรือที่เพื่อนสนิทมิตรสหายเรียกเขาติดปากว่า “อาเต๋า” เดินทางกลับมาจากพาคณะผู้สื่อข่าวกีฬาไปเยือนเมืองจีนตามคำเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น (ปี 2521) เขาก็มีปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาให้ได้

ส่วนหนึ่งเพราะเขาเป็นลูกจีนโดยกำเนิด มักได้ยินเตี่ยเล่าเสมอว่าบ้านเมืองจีนสมัยตอนจากมานั้นลำบากยากแค้นเพียงไร เมื่ออยู่เมืองไทยทำธุรกิจค้าขายมีกำไรก็มักจะส่งเงินกลับไปช่วยเมืองจีน บางครั้งก็เดินทางกลับไปด้วยตัวเอง แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม ซึ่งเตี่ยมักบอกเสมอว่าต้องจนเจือพี่น้องเราก่อน เพราะแกรักประเทศของแก ครอบครัวมาทีหลัง ถึงขนาดว่าสามารถสะสมซื้อที่ดินและสร้างอาคารขึ้นมาหลังหนึ่งได้ แถมยังไม่ถูกรื้อทิ้งโดยฝีมือของเรดการ์ดในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าอาคารหลังนี้จะถูกสร้างขึ้นด้วยชนชั้นนายทุนก็ตาม แต่ด้วยความที่ยังประโยชน์ต่อสาธารณะจึงถูกใช้งานต่อมาเรื่อยๆ

อาเต๋าคนใส่หมวกยืนกลางภาพ ส่วนด้านซ้ายอาเต๋าที่สวมเสื้อทหารคือพิศณุ นิลกลัด ภาพนี้ถ่ายที่พระราชวังฤดูร้อน

ตอนนั้นอาเต๋าเป็นที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย เขาถูกรัฐบาลจีนเชิญให้จัดนักข่าวจากทุกหัวไปเยือน เพื่อให้เห็นสภาพบ้านเมืองของจีน ได้รู้จักวัฒนธรรมจีน และเห็นการผลิตเครื่องกีฬาที่ทันสมัยของจีน ทั้งนี้เพราะปีนั้นประเทศจีนตัดสินใจส่งนักกีฬามาแข่งขันเอเชียนเกมส์ในเมืองไทย จึงต้องการให้นักข่าวไทยได้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมจีนเสียก่อน เมื่อนักกีฬาจีนเดินทางมาถึง จึงให้การต้อนรับอย่างดี และรู้ว่าคนจีนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร

ต้องยอมรับ พ.ศ. นั้น ประเทศจีนเพิ่งเปิดประเทศ โลกภายนอกยังไม่รู้จักและเข้าใจจีนอย่างแท้จริง การวางนโยบายการต่างประเทศโดยการเชิญสื่อมวลชนให้ได้ไปเห็นด้วยตาตนเองเป็นเรื่องที่แยบคายมาก เป็นการเปิดประเทศอย่างแท้จริง และวิธีการนี้ก็บรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี เพราะนักข่าวทุกคนที่เคยไปจีนครั้งนั้นช่วยดูแลและรายงานข่าวนักกีฬาจีนเป็นอย่างดี

ส่วนอาเต๋านั้นอาจจะมากกว่าใคร เพราะเลือดจีนในตัวเขาข้นขึ้นมาทันที กลับมาเล่าให้เพื่อนที่เป็นศิลปินวาดภาพคนหนึ่งฟังว่าตนเองนั้นมีปณิธานอย่างไร อยากเห็นเมืองจีนในอนาคตเป็นอย่างไร โดยอยากให้เพื่อนเขียนภาพขึ้นมาภาพหนึ่งให้เขา เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ยืนหยัดสร้างคุณูปการต่อประเทศจีน และเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเตี่ยสามารถพลิกฟื้นตัวเองขึ้นจากความยากจนให้ได้

ตอนแรกเพื่อนก็นึกไม่ออกว่าจะถ่ายทอดออกมาอย่างไรจึงจะตรงความมุ่งหวังของอาเต๋า จนอาเต๋าบอกให้ลองร้องเพลงชาติจีนดู เท่านั้นแหละ ศิลปินคนนี้ก็คิดได้ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อเพลงที่ปลุกใจให้ลุกขึ้นสู้ และสามารถตีความออกมาเป็นม้าที่กำลังโจนทะยานอย่างในภาพที่เห็นอยู่นี้ได้

“ภาพนี้มีอายุ 35 ปีแล้ว และประเทศจีนก็ได้ผงาดขึ้นแล้ว เหมือนกับภาพม้าตัวนี้ เห็นความผาดผยองโจนทะยานนั่นไหม นี่คือความสำเร็จของจีนในวันนี้ที่ผมคาดเดาไว้ตั้งแต่เมื่อ 35 ปีก่อน หลังจากกลับมาจากเมืองจีน ผมเชื่อเสมอว่าจีนจะสามารถกระโจนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มพลังเหมือนม้าตัวนี้”

อาเต๋าเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลของภาพวาดที่แขวนอยู่ติดกับผนังภายในบ้าน ทุกครั้งที่เขาเดินออกจากบ้านเพื่อออกไปใช้ชีวิต ภาพนี้จะสะกิดให้เขาแหงนมองทุกครั้งก่อนเปิดประตูออกไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับเขาในฐานะลูกจีนว่าสักวันหนึ่งจะสามารถสร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับได้

“เป็นคนจีนสมัยก่อนมักถูกเหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกกีดกันและล้อเลียน ในเมืองไทยนี่ไม่เท่าไหร่ เพราะคนไทยให้เกียรติและไม่ดูถูก จะมีบ้างก็นิดหน่อยที่ไม่ชอบคนจีน แต่ไปเมืองนอกนี่โดนบ่อย แต่เราก็ไม่ยอม เพราะเราเชื่อเสมอว่าจีนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ วันหนึ่งทั่วโลกจะต้องยอมสยบให้ และผมก็ทำนายไว้ไม่ผิด”

“ตอนนี้ผมมีความตั้งใจว่า อยากจะมอบภาพนี้ให้กับคนสำคัญของรัฐบาลจีน จะเป็นใครก็ได้ ขอให้เป็นตัวแทนมารับความปรารถนาดีของลูกหลานชาวจีนคนหนึ่งในเมืองไทยที่เชื่อเสมอมาว่าประเทศจีนจะสามารถก้าวหลุดพ้นความยากจน และทะยานไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง และผมยังอยากจะมอบพระเครื่องสำคัญที่ชาวไทยให้ความเคารพเป็นอย่างสูงที่ผมครอบครองอยู่ให้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าบ้านนี้เมืองนี้เอาใจใส่ดูแลชาวจีนโพ้นทะเลมาเป็นอย่างดี แม้กระทั่งพระเกจิอาจารย์ที่ชาวไทยกราบไหว้มากที่สุดมาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ให้ความสำคัญและช่วยยกระดับเชิดหน้าชูตาชาวจีนให้มีฐานะในสังคมไทย ถึงขนาดทำพระเครื่องรุ่นเฉพาะที่มอบให้แก่ลูกหลานชาวจีนด้วย”

ภาพเขียนทำนายอนาคตประเทศจีนที่อำพล ถาวรโลหะใช้นำทางชีวิต

นอกจากภาพเขียนชิ้นสำคัญที่เตือนใจ “อำพล ถาวรโลหะ” มาโดยตลอดให้มุ่งมั่นพิสูจน์ตนเอง พระเครื่องและพระบูชาจำนวนมากที่เขามีอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชำระจิตใจ และกระตุ้นเตือนให้เขาทำความดีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งให้ระลึกถึงบุญคุณและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของคนไทยและคนจีนที่วันนี้ได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว

“ผมมีพระบูชาจากประเทศจีนจำนวนมาก บางองค์มีอายุเป็นพันๆ ปี บางองค์มีองค์เดียวในโลก ซึ่งล้วนเป็นพระที่คนให้ผมมา ไม่ได้ไปซื้อหาแต่อย่างใด พอมีมากๆ เข้าผมก็จัดรวมๆ กันเป็นศาลาจีนแยกจากพระไทยและอินเดียขึ้นมา เพื่ออย่างน้อยเป็นการกระตุ้นเตือนว่าเราเป็นลูกหลานชาวจีนคนหนึ่ง”

สำหรับพระไทยนั้น อาเต๋าบอกว่ามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อหลวงพ่อโต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือที่ใครๆ มักเรียกติดปากว่า “สมเด็จวัดระฆัง” ซึ่งเขามีเก็บสะสมวัตถุมงคลของท่านไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งพระบูชา พระเครื่อง รูปหล่อ หรือแม้กระทั่งต้นแบบพระชุดเบญจภาคีที่เขามีเก็บไว้ ทำให้สามารถเทียบกับองค์พระเครื่องที่จัดสร้างตามต้นแบบนี้ได้เลยว่ามีลวดลายและตำหนิที่ใดบ้าง

และเรื่องนี้เองที่ทำให้ชื่อของอาเต๋าในวัยปลายเจ็ดสิบ กลับมาปรากฏในสื่ออีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ศาลาพระจากเมืองจีน

ที่บอกว่ากลับมาก็เพราะว่า แต่ก่อนนั้นชื่อเสียงของเขาปรากฏอยู่เสมอในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคที่ก่อตั้งทีมฟุตบอลการกุศล “รวมน้ำใจ” ขึ้นมา จนภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “รักเมืองไทย” และปัจจุบันกลายเป็นมูลนิธิรักเมืองไทยไปในที่สุด หรือการนำทีมสื่อมวลชนไทยในชื่อ “สยามกีฬา” ไปเตะฟุตบอลกระชับมิตรกับทีมสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงของนายพลโบเมียะ จน “ระวิ โหลทอง” จองชื่อนี้ไปเปิดหนังสือพิมพ์ของตัวเอง หรืออย่างการนำทีมสื่อไทยไปจีนอย่างที่กล่าวไปข้างต้นด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า “อำพล ถาวรโลหะ” หรือ “อาเต๋า” มีชื่ออยู่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนวงการสื่อมวลชนหรือแม้กระทั่งกลุ่มการเมืองด้วย เพราะเพื่อนสนิทในวัยหนุ่มของเขาหลายคนในสังคมไทยล้วนคุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็นจำลอง ศรีเมือง วีระ มุสิกพงศ์ วัฒนา อัศวเหม ธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นต้น แต่ที่แวดวงสังคมชื่นชมเขาเป็นพิเศษก็คือ การอยู่เบื้องหลังในการผลักดัน “แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์” ขึ้นเป็นแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย

ข่าวใหญ่ที่ทำให้ชื่อของเขากลับมาขจรขจายอีกครั้งก็คือ การถวายรูปปั้นเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี หน้าตัก 29 นิ้ว อายุร่วม 150 ปี ให้แก่วัดศีลขันธาราม จ.อ่างทอง แต่ที่สุดฮือฮาก็เพราะว่ามีการเปิดพบกรุพระสมเด็จลองพิมพ์ใต้ฐานรูปปั้นจำนวนนับร้อยองค์ห่ออยู่ในจีวรด้วย ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าหลวงปู่โตเป็นผู้นำพระเครื่องดังกล่าวมาบรรจุไว้ด้วยตัวเอง และตั้งชื่อกรุพระรุ่นนี้ว่า “พระสมเด็จ ปาฏิหาริย์หลวงปู่โต”

ด้านหลังพระสมเด็จที่ทำจากทองคำแท้ ด้านหลังสลักคำว่า “ฝู” มอบให้เฉพาะครอบครัวชาวจีนสำคัญๆ ในไทย

ไม่เท่านั้น เขายังออกหนังสือเล่มใหญ่ กระดาษอาร์ต และภาพสี่สีทั้งเล่มชื่อ “พระเครื่องเหนือเซียน” หรือ “The Legend of Siam Amulets” มาด้วย เพื่อรวบรวมภาพและเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระสมเด็จรุ่นต่างๆ ไว้อย่างถูกต้องด้วยกัน รวมถึงภาพพระเครื่องชุดเบญจภาคีด้วย จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากในแวดวงพระเครื่อง

“คุณรู้ไหมว่าทำไมผมถึงศรัทธาหลวงพ่อโตและห้อยพระสมเด็จมาตลอด นั่นก็เพราะท่านได้สร้างพระหลายรุ่นให้ลูกหลานชาวจีนในไทยเป็นการเฉพาะ ท่านให้ความเอ็นดูชาวจีนยุคนั้นมาก ทั้งที่ส่วนใหญ่เหยียดหยามดูแคลน”

ว่าแล้วอาเต๋าก็เดินเข้าห้องไปหยิบพระสมเด็จรุ่นต่างๆ ออกมาให้ดูประกอบการเล่า และชี้ให้ดูตำหนิต่างๆ สอนให้ดูเนื้อ โดยย้ำว่าพระเครื่องหลวงปู่โตทุกองค์ต้องทำจาก “ปูนเพชร” เท่านั้น และทุกองค์จะมีลายมือของท่านสลักหลังกำกับไว้ด้วยว่า “โต” ส่วนรุ่นที่ทำขึ้นเพื่อให้ชาวจีนในไทยนั้น หลวงพ่อจะสลักหลังว่า 托大师 อ่านว่า ทัวต้าซือ ซึ่งก็คือชื่อของท่านในภาษาจีนนั่นเอง โดยสำเนียงจีนในไทยของเราน่าจะออกเสียงว่า โตไต้ซือ ยกเว้นพระที่ทำจากทองคำแท้ไม่กี่องค์ที่ทำให้ตระกูลชาวจีนสำคัญๆ ไม่กี่ตระกูลในยุคนั้น ท่านจะพิมพ์อักษรคำว่า 福 อ่านว่า ฝู ที่แปลว่า ศิริมงคล ไว้ที่ด้านหลัง พร้อมสลักลายมือภาษาไทยไว้ว่า “โต” และ “ร่ำรวยเงินทอง” ด้วย

แต่ก่อนคนไม่รู้ว่าทำไมพระสมเด็จจึงมีภาษาจีนสลักหลังด้วย ไม่รู้ว่านี่คือเมตตาที่ท่านมีต่อชาวจีนในไทย และพระหลายองค์ก็เคยไปสร้างปาฏิหาริย์ในแผ่นดินใหญ่มาแล้ว จนชาวจีนพากันเคารพนับถือท่านอย่างมาก

ดังนั้น ความมุ่งหวังสูงสุดของ “อาเต๋า” หรือ “อำพล ถาวรโลหะ” ในวันนี้ คือการส่งต่อความศรัทธาของครอบครัวเขาไปยังประเทศจีน ทั้งภาพเขียนที่เตือนใจเขามาตลอดชีวิตและพระเครื่องที่มีคุณค่าต่อสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างคนไทยและจีนมาอย่างยาวนาน

โดย : พัลลภ สามสี
ภาพ : ณจักร วงษ์ยิ้ม