รู้ลึกบนเส้นทางการค้า GMS

0
40
จากการที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับท่านอดีตกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ท่านนิธิวดี มานิตกุล ในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงบลาซิลเลีย ท่านได้กล่าวว่า ในภาระกิจของท่าน มีอาณาเขตครอบคลุมมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และหูหนาน
ในข้อซักถามประเด็นเรื่องของมณฑลยูนนานกับการค้าขายระหว่างจีนกับประเทศไทย เนื่องจากยูนนานมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน และคนไทยที่ต้องการทำการค้ากับประเทศจีน โดยเฉพาะนักธุรกิจไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ เนื่องจากว่ายูนนานสามารถเดินทางขึ้นไปได้โดยง่ายจากเชียงรายได้ทั้งถนนและแม่น้ำ ก็สามารถไปถึงคุนหมิงมณฑลยูนนานได้ ฉะนั้นความสำคัญของยูนนานที่เชื่อมโยงกับทางภาคเหนือของไทยมีมาแต่ช้านาน จวบจนปัจจุบัน
ท่านนิธิวดีได้กล่าวว่า “ท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ให้นโยบายว่า มณฑลยูนนาน จะเป็นเหมือนกับจุดศูนย์กลางในการเปิดประเทศจีนฝั่งตะวันตก มาสู่ประเทศในเอเซียใต้และพื้นที่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเอเซียใต้ในที่นี้หมายถึง อินเดีย บังคลาเทศ เมียนมา ส่วนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบไปด้วยไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง” สิ่งที่สำคัญคือ ประเทศจีนจะต้องมีการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามณฑลยูนนาน มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง ๙.๕ นับว่าเป็น ๑ ใน ๓ ของมณฑลที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุด
ในส่วนของวิธีการปฏิบัติของยูนนาน การที่จะเปิดประตูสู่เอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีเรื่องราวของการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ นอกจากเส้นทาง R3A หรือ R3B ที่หลายนักเดินทางหลายท่านคงได้มีโอกาสขึ้นรถผ่านจากเชียงของขึ้นห้วยทรายเข้าไปถึง สิบสองปันนา ทางมณฑลยูนนานเองก็มีการทำเส้นทางประมาณ ๕ เส้นทางโดย
เส้นทางแรก จากคุนหมิง-ยู่วี่-บ่อหาน-ไทย ซึ่งเส้นทางนี้ก็คือเส้นทาง R3A สามารถที่จะเดินทางโดยรถได้ตลอดเส้นทาง เพียงแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ Software ที่ให้บริเวณชายแดนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไรที่จะสามารถอำนวยความสะดวกได้เร็วขึ้น เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จาก Hardware ที่ให้บริการอยู่แล้ว ประเด็นต่างๆเหล่านี้ได้เคยถูกยกขึ้นมากล่าวในกรอบ GMS หลายครั้ง แต่ว่า Software จะมีเรื่องของอธิปไตยในการตัดสินใจของแต่ละประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นจึงเหมือนกับว่าค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เส้นทางที่สอง เป็นเส้นทางจากคุนหมิงเชื่อมเข้าฮานอย เป็นเส้นทาง คุนหมิง – หยู่ซี – ด่านเหอโขว่ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่มีสินค้าทำการขนส่งไปเป็นจำนวนมาก จากฮานอยขึ้นไปสามารถเดินทางเข้าไปสู่เส้นทางยูนนานได้
เส้นทางที่สาม เป็นเส้นทางที่มาจากทางฝั่งตะวันตก จะเป็นเส้นทางคุนหมิง-หยู่ซี-ต้าหลี่ จุดนี้มีความสำคัญเพราะว่าหยู่ซีเป็นชายแดนที่มีศักยภาพเป็นอย่างมาก ระหว่างยูนนานกับเมียนมา เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดที่มีการค้าขายมากที่สุด มีสินค้าผ่านแดนมากที่สุดในระหว่างมณฑลยูนนานทั้งหมด
เส้นทางที่สี่ เป็นเส้นทางที่มาจากคุนหมิง-เมืองเติ้ง-หยู่ซี-เหลียงซาน เพื่อที่จะเข้ามาทางเมืองเติ้ง แต่จุดนี้ยังมีทางเชื่อมที่ขาดหายไประหว่างทางอีกเป็นอย่างมาก และยังไม่มีความพยายามที่คิดจะดำเนินการประสานงานสร้างต่อเนื่องอีกด้วย จึงยังจำเป็นต้องรอหากมีความจำเป็นต้องใช้เส้นทางนี้
ส่วนเส้นทางที่ห้า ขึ้นไปทางทิศเหนือ จากคุนหมิงไปต้าหลี่ และจากต้าหลี่ไปหัวเฉียวแล้วไปเชื่อมออกทางเมียนมาเข้าอินเดีย เส้นทางนี้สามารถใช้เดินทางขึ้นไปถึงธิเบตได้ด้วย ซึ่งเส้นทางนี้จะเป็นเหมือนกับห้า แยกที่ทางมณฑลยูนนานมีความฝันหรือความหวัง ว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จโดยแนวคิดของประเทศจีนก็คือว่า ประเทศจีนต้องการเป็นเหมือนกับ “หนึ่งศูนย์กลาง หนึ่งรัศมี สองระเบียง สามแนวและ หกภูมิภาค” ก็คือ หนึ่งศูนย์กลาง หนึ่งรัศมี ดังที่ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าว
ส่วนเรื่อง สองระเบียงก็คือ ระเบียงแรกหมายถึง เมียนมา อินเดีย และบังคลาเทศ ที่อยู่ทางด้านเอเซียใต้ ซึ่งก็เป็นฝั่งตะวันตกของยูนนาน แต่ทางเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ก็คือ Corridor ลงมาที่เป็น สอง Corridor ที่จะเกิดขึ้น ส่วน สามแนวทาง ก็คือ หนึ่ง ชายแดน ชายแดนที่สำคัญก็มีประมาณ ๔,๐๖๐ กิโลเมตร ซึ่งก็เชื่อมทั้งเมียนมา เชื่อมทั้งลาว เชื่อมทั้งเวียดนามด้วย โดยเชื่อมชายแดนหนึ่ง  สองเชื่อมแม่น้ำล้านช้าง (โขง) และแม่น้ำอีกเส้นหนึ่งคือแม่น้ำจินซา อยู่ซึ่งอยู่ในประเทศจีนเอง หกพื้นที่คือ ทางตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ รวมเป็นแนวคิดของยูนนาน
นอกจากเรื่องการเดินรถโดยทางบกแล้ว ท่านนิธิวดีอธิบายว่า “หากกล่าวถึงจีน ก็ต้องรวมไปถึงเรื่องรถไฟด้วยเช่นกัน เพราะจีนผลักดันเรื่องรถไฟโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง จากคุนหมิงไปต้าลี่ ระยะทางประมาณ ๓๐๐ กว่ากิโลเมตรใช้เวลาเดินทางเพียงแค่สองชั่วโมง โดยต้าลี่จะเป็นจุดสำคัญเชื่อมโยงไปถึงเมียนมาและเชื่อมโยงไปถึงเอเซียใต้ ซึ่งต้าลี่จะเป็นจุดศูนย์กลางเหมือนกับยู่วี่ ที่เชื่อมโยงมาไทยแล้วสามารถเดินทางไปเวียดนามได้” จุดนี้สามารถทำให้เท่ากับว่ามีรถไฟเริ่มเปิดขึ้นแล้ว และมีมากขึ้นด้วยโดยตอนนี้มีถึง ๕ เส้นทาง ทางบกที่กล่าวไปแล้วจะเป็นเส้นทางรถไฟด้วยเช่นเดียวกัน และปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างทางรถไฟระหว่างจีนกับลาวแล้ว หากเส้นทางนี้สำเร็จเรียบร้อยดี จะล้อเส้นทาง เช่นเดียวกับ สิงค์โปร์ – คุนหมิง แต่เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางคุนหมิงลงเข้ามาและก็เข้ามาถึงชายแดนหนองคาย จะใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมง ซึ่งมันสั้นมาก วิ่งด้วยความเร็ว ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในด้านการเดินทางไปมาหาสู่ในด้านของการขนส่งสินค้า
นอกจากนั้น ในส่วนที่เริ่มมีการเดินรถแล้ว เส้นทางจากคุณหมิงไปเหอโขว่ก็เชื่อมเวียดนาม ตอนนี้สามารถเดินรถได้เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน ในส่วนทางน้ำ ท่าเรือเชียงแสนของเชียงรายเชื่อมโยงกับท่าเรือของยูนนานอยู่ ปัจจุบันนี้ได้มีการพยายามยกระดับเรื่องสภาพของการขนถ่ายสินค้าบริเวณของท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งมีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นจุดที่สามารถจะนำสินค้าพวกเนื้อสัตว์ผ่านเพียงแค่จุดเดียว คือท่าเรือจิ่งหง ท่าเรืออื่นไม่สามารถทำได้ แต่ท่าเรือนี้มีการการันตีอยู่ ดังนั้นตอนนี้จึงมีความคืบหน้าอยู่ว่าทางประเทศจีนได้ยอมรับให้สินค้าประเภทปีกไก่จากประเทศไทย สามารถที่จะส่งเข้าไปในมณฑลยูนนานได้ มีการรับรองมาตรฐานแล้ว และได้มีการ Upgrade ท่าเรือ โดยอนาคตคาดว่าท่าเรือนี้จะสามารถรองรับได้ ๑๕๐,๐๐๐ ตันของสินค้าได้ อันเป็นศักยภาพของธุรกิจไทย แต่หากว่าการเดินเรือ จะเป็นไปตามความสูงความต่ำของแม่น้ำด้วย และจีนมี Agenda อื่นด้วยเช่นเดียวกัน เชื่อว่าอาจจะมีการขยายร่องน้ำลึกเพิ่ม ดังนั้น อาจจะมีการกระทบเรื่องชายแดนด้วย ซึ่งทางประเทศไทยก็มิได้นิ่งนอนใจ และพยายามค่อยๆ ชะลอการพยายามในการขยายร่องน้ำของประเทศจีน ด้วยประการนี้จึงเป็นภาพรวมของ Connectivity ที่พอจะทำให้ผู้สนใจเห็นศักยภาพว่าตอนนี้ ยูนนานให้ความสำคัญในการลงมาทางเอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก
เขียนโดย
ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล
เรียบเรียงโดย
วราวุฒิ เรือนคำ