รับผิดชอบงาน “สามเกษตร” ในมณฑลฝูเจี้ยน – เส้นทางสี จิ้นผิง(39)

0
1
นายสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยนตรวจเยี่ยมโรงงานแปรรูปชาในอำเภอฉางทิงเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1996 (เอื้อเฟื้อภาพโดยหนังสือพิมพ์ฝูเจี้ยนเดลี่)

เดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1995 ที่ประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลฝูเจี้ยนครั้งที่ 6 ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ซึ่งระบุว่า ฝูเจี้ยนจะบรรลุ “ความพอกินพอใช้” ขั้นพื้นฐานในปี 1997 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายระดับชาติสามปี จะบรรลุ “ความพอกินพอใช้” ในทุกๆด้านในปี 2000 และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนถึงระดับของประเทศที่มีรายได้ปานกลางของโลกในปี 2010 เมื่อเดือนธันวาคมปี 1995 คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์และมณฑลฝูเจี้ยนได้ออก “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเร่งดำเนินการตามแผนก้าวสู่ความพอกินพอใช้ในชนบท” ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากที่ฝูเจี้ยนเริ่มดำเนินการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ในชนบทอย่างมีแบบแผนและที่ประชุมดังกล่าว ได้เลือกนายสี จิ้นผิงให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯประจำมณฑลฝูเจี้ยน รับผิดชอบเกี่ยวกับงาน “สามเกษตร” (เกษตรกรรม ชนบท และเกษตรกร) และงานอื่นๆ และต่อมานายสี จิ้นผิงยังได้เป็นหัวหน้าทีมในการแก้ไขความยากจนและการก้าวสู่ความมั่งคั่งของชนบทแห่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลด้วย

เดือนเมษายนปี 1996 นายสี จิ้นผิงไปรับหน้าที่ในคณะกรรมการพรรคฯประจำมณฑลอย่างเป็นทางการ หกเดือนต่อมา เขาใช้เวลามากกว่า 50 วันในการลงพื้นที่ 9 เขต (รวมถึงเมืองที่เป็นระดับเขตทางการปกครอง) 42 อำเภอ (รวมถึงเมืองหรือเขตที่เป็นระดับอำเภอทางการปกครอง) ซึ่งมีสภาพอันหลากหลายกว่า 60 ตำบล และกว่า 80 หมู่บ้านและวิสาหกิจของทั้งมณฑล ได้เป็นประธานจัดการประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่และประชาชนกว่า 80 ครั้ง และได้เยี่ยมกลุ่มเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพื่อสำรวจข้อมูลและศึกษาสภาพความเป็นจริงของพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ในชนบทของพื้นที่ต่างๆ

ล่าย ซือซวง ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป สำนักงานเพื่อความพอกินพอใช้แห่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยนยังคงจำได้ว่า เวลาลงสำรวจพื้นที่นั้น นายสี จิ้นผิงมักมี “หลักพิจารณาสี่ประการ”  ได้แก่ หนึ่ง พิจารณาโครงการอุตสาหกรรม ในที่ดินปลูกอะไร สภาพการเจริญเติบโตดีหรือไม่ ราคาขายสูงหรือไม่ สอง พิจารณาที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงหรือไม่ สามารถป้องกันลมและฝนได้หรือไม่ สาม พิจารณาตู้เสื้อผ้า เสื้อผ้าฤดูหนาวสามารถสวมใส่ได้อย่างอบอุ่นหรือไม่ และสี่ พิจารณาหม้อหุงข้าว สามารถซื้อเนื้อสัตว์มากินได้หรือไม่ ได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่

เดือนกรกฎาคมปี 1996 นายสี จิ้นผิงเดินทางไปยังตำบลส่วยจี๋ เขตเจี้ยนหยาง เมืองหนานผิง เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก้าวไปสู่ความพอกินพอใช้ในพื้นที่ชนบท ในเวลานั้น พื้นที่ชนบทอันกว้างใหญ่ของตำบลส่วยจี๋มีบรรยากาศที่คึกคักในการก้าวสู่ความพอกินพอใช้ โดยมี “บทเพลงแห่งความพอกินพอใช้” ที่ขับร้องกันอย่างกว้างขวางซึ่งมีเนื้อร้องว่า “อะไรคือความพอกินพอใช้ มาฟังฉันเล่าให้ฟัง เฉลี่ยต่อหัว 3,000 หยวน ทุกครัวเรือนมีบ้านที่สร้างด้วยอิฐและคอนกรีต มีถนนซีเมนต์อยู่หน้าประตู ใช้สารพัดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทุกคนไฝ่เรียนรู้ ปราศจากผู้ไม่รู้หนังสือในหมู่เยาวชนและวัยกลางคน ทุกหมู่บ้านมีถนนเข้าถึง ใช้โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม ทุกคนพร้อมใจกันใช้ความพยายาม ร่วมกันก้าวไปสู่ความพอกินพอใช้”

“ต้องถือการช่วยเกษตรกรเพิ่มการผลิตและเพิ่มรายได้เป็นกุญแจสำคัญในการทำงาน” ระหว่างการประชุมเพื่อรับฟังรายงานผลการปฏิบัติงานของตำบลส่วยจี๋ นายสี จิ้นผิงได้ทราบว่ามีเกษตรกรในหมู่บ้านซื่อโถวเปิดโรงงานแปรรูปผักและอาหารด้วยตนเอง จึงตัดสินใจไปเยี่ยมทันที โดยได้เข้าไปดูโรงงานและการบรรจุสินค้า ได้ชิมอาหารประเภทแช่แข็งและหมักดองที่ผลิตโดยโรงงานนี้ และชื่นชมว่ารสชาติไม่เลว

โจว เฮ่อเหนียน ยังจำได้แม่นเมื่อครั้งนายสี จิ้นผิงไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารของเขา

เมื่อรู้ว่าโรงงานนี้มีมูลค่าผลผลิตต่อปีกว่า 600,000 หยวน มีการจ้างงานชาวบ้านกว่า 20 คน และสามารถเพิ่มรายได้ให้แต่ละครัวเรือนกว่า 4,000 หยวนต่อปี นายสี จิ้นผิงได้จับมือนายโจวและชมว่าเขาทำงานได้ดี “รู้จักเปิดโรงงานตามกระแสการปฏิรูปและเปิดประเทศ” นายสี จิ้นผิงยังถามนายโจวว่าโรงงานประสบปัญหาอะไรหรือไม่ เนื่องจากในเวลานั้น โรงงานอาหารแห่งนี้จำเป็นต้องจัดหาพริกอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบกว่า 100,000 ชั่ง (2 ชั่งเท่า 1 กิโลกรัม) นายโจวกำลังร้อนใจเรื่องเงินทุนไม่เพียงพอ เขาจึงละล่ำละลักออกมาว่า “การซื้อพริกยังขาดอีกหลายหมื่นหยวน ”

เมื่อได้ยินเช่นนี้ นายสี จิ้นผิงกล่าวกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมการสำรวจว่า”ลองศึกษาว่ามีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้พวกเขาพ้นความยากลำบากได้ เราต้องให้ความสำคัญกับวิสาหกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเช่นนี้” นายสี จิ้นผิงยังได้กำชับกับนายโจว เฮ่อเหนียนว่า ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ต้องสร้างแบรนด์ของตนเอง พัฒนาธุรกิจให้ดีและแข็งแกร่ง และช่วยนำพาเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ในไม่ช้า เขตเจี้ยนหยางได้ช่วยจัดหาเงินทุนหมุนเวียน 100,000 หยวน ซึ่งเพียงพอสำหรับการซื้อวัตถุดิบในหนึ่งปี จึงได้ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของนายโจว เฮ่อเหนียน

เดือนตุลาคมปี 1996 จากการศึกษาวิจัยเชิงลึก นายสี จิ้นผิงได้ยื่นรายงานผลการศึกษาหัวข้อ “เสริมสร้างความมั่นใจ กุมโอกาส และผลักดันการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ในชนบทอย่างต่อเนื่อง” ต่อคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณทลฝูเจี้ยน รายงานฉบับนี้ประเมินสถานการณ์การสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ของทั้งมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้นอย่างสอดคล้องตรงกับสภาพความเป็นจริงที่สุด ในขณะที่สะท้อนภาพที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาในท้องถิ่นต่างๆ เช่น “หิ้วตะกร้าผักสู่ความพอกินพอใช้” “แบกไม้ไผ่สู่ความพอกินพอใช้” “หาบท้อและพลัมสู่ความพอกินพอใช้” และ “ต้อนฝูงโคสู่ความพอกินพอใช้” เป็นต้น ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ใหม่และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการก้าวไปสู่ความพอกินพอใช้ด้วย

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

http://www.tcjapress.com/2023/06/24/xi-way-38