“จีนรุกหนักตลาดรถยนต์ไฟฟ้า” โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

0
1

ในอดีตจีนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งจักรยาน ไปไหนมีแต่เสียงดีดกระดิ่งกรุ๋งกริ๋งดังสนั่นหู ตอนนั้นคนที่มีปัญญาซื้อรถยนต์ส่วนตัวมีน้อยจนนับหัวได้ รถยนต์บนถนนไม่ก็เป็นรถเมล์ รถบรรทุก รถส่งของ ฯลฯ รถยนต์นั่งที่จีนผลิตเองมีไม่กี่สิบกี่ร้อยคัน พะยี่ห้อ “หงฉี” (ธงแดง) เห็นปุ๊ปก็รู้ว่าเป็นรถของผู้นำหรือรถรับรองแขกต่างประเทศ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น คนจีนก็หันมาซื้อรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์)แทนรถจักรยาน แต่ยังเป็นรถแบบเก่าที่ใช้น้ำมัน)

ผ่านไปจำไม่ได้ว่ากี่ปี ประมาณ 30 ปีเห็นจะได้ ผู้เขียนเดินทางไปเก็บข้อมูลทำวิจัยในประเทศจีน รู้สึกแปลกใจที่ถนนหนทางเงียบผิดปกติ เวลาไปยืนรอไฟแดงเพื่อข้ามถนน รถมอเตอร์ไซค์จะวิ่งนำหน้ากันมาจอดรอไฟแดงเรียงหน้ากันเป็นแพ แต่ที่แปลกก็คือทุกคันมากันแบบเงียบกริบ ไม่ส่งเสียงดังแปร๋น ๆ เหมือนแต่ก่อน ทราบภายหลังว่ารถถีบ 2 ล้อในจีนถูกปรับเปลี่ยนขึ้นชั้นมาเป็นรถจักรยานไฟฟ้ากันหมดทั้งประเทศแล้ว ผู้เขียนซึ่งปกติตอนอยู่เมืองไทยมักอารมณ์บูดจากเสียงมอเตอร์ไซค์ที่บิดคันเร่งแข่งกันเสียงดังสนั่นหวั่นไหว พอได้เห็นมอเตอร์ไซค์ไร้เสียงครั้งนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเรื่องแค่นี้จีนทำได้แต่เราทำไม่ได้ นอกจากทำไม่ได้หรือไม่ทำแล้ว ความสาหัสจากรถมอเตอร์ไซค์ในเมืองไทยทุกวันนี้มีแต่เลวร้ายลงกว่าเก่า ด้วยธุรกิจ “delivery“ ที่เกิดขึ้นหลังโควิดเพื่อไม่ให้คนต้องออกเจอกันนอกบ้าน

จักรยานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนานนับสิบ ๆ ปีของจีน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจีนมีวิสัยทัศน์ยาวไกลในเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังจากได้รับความสำเร็จจากการเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์แบบใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานไฟฟ้าแล้ว จีนก็ไปต่อกับกับการบุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมัน ขณะนั้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่แล้วหลายยี่ห้อ เช่น “Volkswagen” ของเยอรมัน “Toyota” ของญี่ปุ่น “Tesla” ของอเมริกา แต่ความนิยมยังไม่แพร่หลาย เพราะราคาแพงมาก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่น สถานีชาร์จแบตก็ยังไม่พร้อม แต่จีนก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มต้นครั้งแรกด้วยการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติก่อนหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001 แล้ว หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมา สิบปีผ่านไปหลังเข้า WTO สถิติในปี 2009 ชี้ว่าจีนสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าแซงหน้าอเมริกาแล้ว

จีนถือว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นเศรษฐกิจหลักอย่างหนึ่งของจีน จึงพยายามทะลวงช่องว่างในขณะที่ตลาดโลกยังเปิดกว้างให้กับรถยนต์พลังงานใหม่ที่เรียกว่า “รถ EV” ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานแทนน้ำมัน จีนทุ่มงบประมาณให้กับผู้ผลิตรถยนต์ EV ด้วยการให้เงินอุดหนุนบ้าง ให้ส่วนลดด้านภาษีบ้าง ทำให้ราคารถไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ประชาชนพอซื้อหาได้ ประกอบกับประชาชนก็มีกำลังซื้อสูงขึ้นด้วย การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการขี่จักรยานจึงเป็นฉากทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น สถิติในปี 2019 จีนผลิตรถยนต์ได้ 26 ล้านคัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน และยังตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้ถึง 7 ล้านคันในปี 2025

ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรถยนต์ก็สร้างมูลค่าทางภาษีให้กับรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนตร์ให้เติบโตขึ้นมาด้วย เพราะรถยนต์แต่ละคันต้องการอะไหล่และอุปกรณ์ชิ้นส่วนนับพัน ๆ ชิ้น ห่วงโซ่การผลิตจึงขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันจีนไม่เพียงแต่เป็น “ผู้ผลิต” รถยนต์ EV ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็น “ตลาดรถยนต์” ใหญ่ที่สุดของโลกด้วย คนจีนวัยหนุ่มสาวเมื่อมีกำลังซื้อมักจะซื้อรถ EV เพราะรถ EV เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย แบรนด์ใหม่ ๆ ที่จีนสร้างขึ้นมามีเป็นจำนวนมาก เช่น SIAC Motor, Dongfeng, FAW, Chang-an, แบรนด์เอกชนที่มีชื่อก็มี Geeley, Beijing Motor Group, Great Wall, BYD แบรนด์เหล่านี้กำลังบุกตลาดโลกรวมทั้งตลาดในไทยด้วย

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอเตอร์โชว์ที่กรุงเทพฯ ผู้ชมงานจำนวนมากร้อง “ว้าว!“ กับรถEV หลายยี่ห้อของจีนที่มาพร้อมรูปลักษณ์ที่เล็กกะทัดรัด แถมมีอุปกรณ์ดิจิทัลอัจฉริยะหลากหลายอย่างที่ทันสมัยภายในรถด้วย เชื่อว่าความนิยมรถไฟฟ้าในไทยมีแนวโน้มจะสูงขึ้น หลังจากที่เจ้าของแบรนด์รถต่าง ๆ พยายามแก้ปัญหาสถานีชาร์จแบตเตอรี่ให้มีจำนวนมากขึ้น ใช้เวลาในการชาร์จน้อยลง

ที่สำคัญรัฐบาลไทยเพิ่งประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐมีนโยบายจะลดภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับรถยนต์ไฟฟ้า จะสนับสนุนการลงทุนให้กับผู้ผลิต ทำให้รถไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมเคยมีราคาสูงถึง 3-4 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ในราคาที่ซื้อหาได้ไม่เกินหลักล้าน ในโอกาสนี้ไทยกับจีนยังได้ลงนามความร่วมมือในการผลิตรถไฟฟ้ายี่ห้อ AION โดยจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสู่ประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วย