บทวิเคราะห์ : ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดเกิดจากการไม่ร่วมมือ

0
3

ช่วงที่ผ่านมา ขณะพูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน นักการเมืองตะวันตกบางส่วนมักจะใช้คำว่า “ลดความเสี่ยง” (de-risking)แทนคำว่า “แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ” (Decoupling) เพื่อทำให้นโยบายเชิงลบต่อจีนของพวกเขาดูเหมือนลดความรุนแรงลง  

แต่แท้ที่จริงแล้ว สาระสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “ลดความเสี่ยง”ไม่ต่างอะไรกับ“การแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ” คือ พยายามให้ปัญหาเศรษฐกิจ การค้ากลายเป็นประเด็นทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมือง    การกระทำเช่นนี้ขัดต่อกฎทางเศรษฐศาสตร์ ทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ตลอดจนสร้างอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เดอะนิวยอร์กไทมส์วิเคราะห์ว่า การใช้คำว่า “ลดความเสี่ยง”ฟังดูอาจไม่รุนแรงเท่าคำว่า “แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ” แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือพยายามยับยั้งการพัฒนาของจีน

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดที่แล้วได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ “แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ”ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ยุทธศาสตร์นี้ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงโดยสิ้นเชิง แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดปัจจุบันจะแถลงว่า พวกเขาไม่มีเจตนาที่จะกีดกันจีน แต่ยังคงดำเนินนโยบายบ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาด้วยวิถีการทางการเมือง เนื่องจากยุทธศาสตร์ “แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ”ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ดังนั้น นักการเมืองบางส่วนในสหรัฐอเมริกาจึงสร้างทฤษฎีใหม่ที่เรียกว่า “ลดความเสี่ยง”ขึ้น

แม้สหรัฐอเมริกาย้ำว่า นโยบาย “ลดความเสี่ยง” ไม่มีเป้าประสงค์ที่จะแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่แท้ที่จริงแล้ว นโยบาย “ลดความเสี่ยง” ไม่ต่างอะไรจากยุทธศาสตร์“แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ”  สิ่งที่เรียกว่า “ลดความเสี่ยง” เป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่”เท่านั้น

ก่อนอื่น นโยบาย “ลดความเสี่ยง” ยังคงพุ่งเป้าไปที่การปิดล้อมทางเทคโนโลยี การตรวจสอบการลงทุนในจีน และการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนไปยังภูมิภาคอื่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐอเมริกาต้องการลดความเสี่ยง แต่ไม่ต้องการแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในขณะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆกับจีน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาได้เน้นถึงความสำคัญในการป้องกันไม่ให้บางประเทศใช้เทคโนโลยีที่สำคัญของตน

ประการที่สอง เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาในการ “ลดความเสี่ยง” ยังคงเพื่อยับยั้งและกดดันจีน และสนองนโยบายอื่นของทำเนียบขาวที่ไม่ชอบธรรมต่อจีน นิตยสารฟอเรนจ์แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) ของสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า นโยบาย“ลดความเสี่ยง”ของสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายที่จะยับยั้งการพัฒนาความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ของจีน และจำกัดบทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ ตลอดจนลดบทบาทของตลาดจีนทั่วโลก

ในโลกปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ควรพึ่งพาอาศัยกัน และการพึ่งพาอาศัยกันนี้ไม่ได้หมายถึงความไม่มั่นคง แม้คำว่า “ลดความเสี่ยง” ฟังดูแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่าคำว่า “การแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ” แต่ไม่สามารถช่วยให้สหรัฐอเมริกาพ้นจากภาวะยากลำบากในการจัดการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ด้านหนึ่ง ทำเนียบขาวทราบดีว่า ยุทธศาสตร์“แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ” ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และจะสร้างความเสียหายให้กับตนเอง แต่อีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาไม่ยอมละทิ้งแนวคิดที่มองจีนเป็น “ศัตรูในจินตนาการ” และกำลังหาทาง “แยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานสำคัญ”ในรูปแบบใหม่ แนวความคิดที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในกรงขังที่สร้างขึ้นเอง

การค้าเสรีและการแบ่งงานเป็นผลมาจากกำลังการผลิตทางสังคมที่พัฒนาแข็งแกร่งขึ้น การก่อตัวและการพัฒนาของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจการตลาด การส่งเสริมการแบ่งงานและกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีแต่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาร่วมกัน

รายงานเกี่ยวกับการเปิดกว้างของโลกประจำปี 2022 ที่เผยแพร่โดยสภาสังคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนระบุว่า จีนมีความคืบหน้าในการยกระดับการเปิดกว้างสูงขึ้น และดัชนีการเปิดกว้างของจีนมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้  จีนกำลังกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

นายกิเดียน รัชมาน(Gideon Rachman) หัวหน้านักวิเคราะห์ต่างประเทศของ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ของอังกฤษแสดงความคิดเห็นว่า ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆเกิดจากการไม่ยอมร่วมมือกับจีน

เขียนโดย ไช่ เจี้ยนซิน ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)