แก้ไข“ความขัดแย้งระหว่างการเพาะเห็ดกินได้กับการตัดไม้ทำลายป่า”– เส้นทางสี จิ้นผิง(43)

0
17
เห็ดหอมที่เพาะด้วยถุงแท่งเชื้อเห็ดกำลังเติบโต

ระหว่างการทํางานที่เขตหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน นายสี จิ้นผิงก็ได้เริ่มใช้ความพยายามเพื่อแก้ไข“ความขัดแย้งระหว่างการเพาะเห็ดกับการตัดไม้ทำลายป่า”

หมิ่นตง (หมายถึง ภาคตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยน) เป็นหนึ่งในพื้นที่แรกๆ ของประเทศจีนที่เพาะเลี้ยงเห็ดกินได้เป็นการใหญ่ ชาวบ้านพากันตัดไม้จากป่าในปริมาณมากเพื่อนำมาทำเป็นขอนไม้สำหรับเพาะเห็ด นอกจากนั้น เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารชาวบ้านก็ต้องขึ้นไปตัดฟืนบนภูเขาอีก นายจั๋ว ซินเต๋อ หัวหน้าผู้สื่อข่าวยังจําได้ว่า ในทศวรรษ 1980 แห่งศตวรรษที่ 20 มีช่วงหนึ่งที่อัตราการครอบคลุมของป่าไม้ในหมิ่นตงลดลงทุกปี จนทำให้อำเภอกู่เถียนต้องสั่งห้ามเพาะเห็ดมาแล้ว

ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพากันแสวงหาหนทางเพื่อคลี่คลาย “ความขัดแย้งระหว่างการเพาะเห็ดกับการตัดไม้ทำลายป่า”

ตำบลต้าเจี่ยในอำเภอกู่เถียนเคยเป็นพื้นที่ยากจนข้นแค้น เกษตรกรที่นี่ “กินข้าวมันเทศ สวมเสื้อผ้ากระสอบ อาศัยอยู่ในบ้านหลังเตี้ยๆที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “หั่วหลง”เพื่อความอบอุ่น”  ในความทรงจําของชาวบ้านแทบไม่มีกับข้าวให้กินในวันธรรมดา ได้แต่คั่วเกลือเพื่อกินกับข้าวเปล่าเท่านั้น ไม่มีน้ำมันปรุงอาหารให้ใช้ มันหมูชิ้นใหญ่จะถูกนำมาถูทาบนกระทะร้อนแล้วนําไปเก็บไว้และเมื่อถูกใช้นานเข้าเนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีดํา

ต่อมามีคนใช้ขอนไม้เพาะเห็ดหอมในตำบลต้าเจี่ย แต่การตัดไม้เพื่อเพาะเห็ดนั้นย่อมไม่ยั่งยืน ผลผลิตก็ไม่สูง สามารถผลิตเห็ดหอมได้เพียง 3.6 กิโลกรัมต่อขอนไม้ 100 กิโลกรัม

มีทางเลือกอื่นหรือไม่?

ในท้องถิ่นมี “ปัญญาชนชาวทุ่ง”ที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเห็ดคนหนึ่งชื่อนายเผิง จ้าววั่ง หลังการทดลองมาเป็นเวลา 8 ปีเขาได้คิดค้นเทคโนโลยีการ “เพาะเห็ดหอมด้วย”ถุงแท่งเห็ด” (mushroom-stick )” โดยนำเศษไม้ ฟาง เปลือกเมล็ดฝ้าย รําและอื่น ๆ มาผสมแล้วบรรจุลงในฟิล์มพลาสติกอัดเป็นแท่งเห็ดเพื่อใช้เพาะเห็ดหอม เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยลดการตัดไม้ทําลายป่า ลดรอบการผลิตเห็ดหอมจาก 2-4 ปี เหลือประมาณ 8 เดือน ลดต้นทุนลง 50-80 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มผลผลิต 5-6 เท่า หลังจากเก็บเห็ดหอมแล้วสารตกค้างยังสามารถนำกลับไปใช้ในทุ่งนาเพื่อบํารุงดิน ก่อรูปเป็นระบบการเกษตรแบบหมุนเวียน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 นายเผิง จ้าววั่งได้ส่งมอบเทคโนโลยีนี้ให้กับเกษตรกรทั้งหลายแบบให้เปล่า  “พงศาวดารอำเภอกู่เถียน”มีการบันทึกไว้ว่า “เมื่อปี ค.ศ. 1987 ทั้งอำเภอมีครัวเรือนเกษตรกร 32,258 ครัวเรือนที่ยึดอาชีพเพาะเห็ดหอม 84 ล้านถุง คิดเป็น 45% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด ”

ห้ามตัดไม้ทำลายป่าแต่ส่งเสริมให้เพาะเห็ดด้วยแท่งเห็ด  นำมาซึ่งป่าไม้และผลผลิตเห็ดที่อุดมสมบูรณ์พร้อมสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน หลังจากนายสี จิ้นผิงได้ยินเรื่องราวของนายเผิง จ้าววั่งจึงได้ไปตรวจเยี่ยมถึงโรงเพาะเห็ดของนายเผิงถึงสองครั้ง

นายเผิง จ้าววั่งยังคงจําเหตการณ์ที่นายสี จิ้นผิงมาเยือนครั้งแรกได้ นั่นคือวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1988 ตอนนั้นนายสี จิ้นผิงเพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจําเขตหนิงเต๋อหมาดๆ เขาได้พาสหายจากคณะกรรมการพรรคฯประจำเขตและหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่ไปสำรวจจนครบ 9 อำเภอในหมิ่นตง ซึ่งจุดแรกในการสํารวจครั้งนั้นก็คืออำเภอกู่เถียน

นายสี จิ้นผิงมาที่โรงเพาะเห็ดของนายเผิง จ้าววั่งพร้อมคําถาม เมื่อเสร็จสิ้นการเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะเห็ด เขาได้โยนคําถามเป็นชุดกับนายเผิง จ้าววั่ง เช่น “โครงการบรรเทาความยากจนผ่านการเพาะเห็ดหอมนี้มีสภาพเป็นอย่างไร?” “หากเผยแพร่และพัฒนาการเพาะ มีความเสี่ยงมากหรือไม่ที่จะล้มเหลว” “หากขยายพื้นที่ในการเพาะผลต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร? รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเท่าไร ? ”  “กล่าวสำหรับเกษตรกร เทคโนโลยีนี้ดีหรือไม่ ? การเรียนรู้และใช้งานง่ายหรือไม่? ”  “กล่าวสำหรับเกษตรกร การส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมมีต้นทุนสูงหรือไม่ เกษตรกรจะยอมรับได้หรือไม่?”

นายสี จิ้นผิงให้กำลังใจนายเผิง จ้าววั่งใช้ความพยายามต่อไปเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นและส่งเสริมการบรรเทาความยากจนสู่ความมั่งคั่งของชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรในอำเภอกู่เถียน ต้องใช้วิธีการต่างๆ เช่น “การให้ความช่วยเหลือแบบ 1 ต่อ 1 ”และ “การให้คำแนะนำแบบ 1 ต่อ 10 ” เป็นต้น เพื่อให้พวกเขาสามารถหลุดพ้นความยากจนผ่านการเพาะเห็ดหอม และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ หนังสือ “ตีส่วยจี๋”และ “สี่สิบปีแห่งหมิ่นตง”ที่นายสี จิ้นผิงเป็นบรรณาธิการโดยได้เรียบเรียงและเขียนคำนำด้วยตนเองนั้นล้วนกล่าวถึงนายเผิง จ้าววั่ง และเทคโนโลยีการเพาะเห็ดหอมซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการบรรเทาความยากจน

เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1989 ในการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาอุตสาหกรรมเห็ดกินได้โดยเฉพาะซึ่งจัดขึ้นในอำเภอกู่เถียน นายสีจิ้นผิงเน้นย้ำอีกครั้งว่าเห็ดกินได้ได้ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของหมิ่นตง แต่จําเป็นต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดกินได้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป่าไม้ให้ดี

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

http://www.tcjapress.com/2023/07/19/xi-way-42