ลงพื้นที่รากหญ้าเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน – เส้นทางสี จิ้นผิง (49)

0
8
นายสี จิ้นผิงและคณะกำลังหารือเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ของเมืองฝูโจวเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 (เอื้อเฟื้อภาพจากสำนักข่าวซินหัว)

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ศตวรรษที่ 20 การปฏิรูปที่นับวันมีการขับเคลื่อนมากขึ้นเกี่ยวข้องกับการปรับผลประโยชน์ของหลายฝ่าย ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ฝังลึกบางอย่างเริ่มปรากฏขึ้น และปรากฏการณ์ที่ประชาชนเข้าหาภาครัฐเพื่อร้องเรียนค่อยๆเพิ่มมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำบางคนกลัวประชาชนเข้าหาเพื่อร้องเรียน จึงมักหลบหน้าไม่ยอมพบปะประชาชนที่เดินทางมาถึงหน้าบ้านเพื่อร้องเรียน หากทราบว่าประชาชนจะไปร้องเรียนถึงกรุงปักกิ่ง พวกเขาก็จะส่งคนไปสกัดกั้น แต่การใช้มาตรการ “ป้องกันการร้องเรียน” เหล่านี้ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ท่าทีของนายสี จิ้นผิงแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำไม่ควรกลัวมวลชน แต่ควรใส่ใจมวลชน สาเหตุที่มวลชนเข้าร้องเรียนก็เพราะพวกเขามีความทุกข์ ความยากลำบาก และปัญหาที่ต้องการให้แก้ไข พวกเขาเข้าหารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าพวกเราสามารถจัดการสิ่งต่างๆ อย่างเป็นธรรมและให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้”

นายสี จิ้นผิงไม่เพียงแต่ต้อนรับประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนอย่างแข็งขันเท่านั้น หากยังดำเนินการปฏิรูประบบและเปลี่ยน “การเข้ามาร้องเรียนของประชาชน” เป็น “เจ้าหน้าที่ผู้นำลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน” อีกด้วย โดยแต่ละเดือนนายสี จิ้นผิงจะจัดให้ผู้รับผิดชอบหน่วยงานห้าหน่วยงานหลักของเมืองฝูโจว (ผู้รับผิดชอบห้าหน่วยงานที่เป็นหน่วยนำจาก 5 หน่วยงานหลักอันได้แก่ คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาล สภาผู้แทนประชาชน สภาปรึกษาการเมือง และกองทัพ) รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อเมืองฝูโจวที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปยังอำเภอ (เขต) เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ก่อนการลงพื้นที่จะแจ้งเวลาและสถานที่ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ทั้งยังสั่งให้อำเภอ (เขต) ทำการสำรวจปัญหาต่างๆของประชาชนให้ชัดเจน และแก้ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ก่อนการลงพื้นที่ ในระหว่างการลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนนั้น งานจํานวนมากคือ การคลี่คลายประเด็นที่ทำให้เกิดความสับสน ตอบคำถาม ให้คำแนะนำ และโน้มน้าว กล่าวอีกนัยหนึ่งงานด้านนี้มีความยากลำบากแต่สําคัญยิ่งกว่า

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1991 นายสี จิ้นผิงได้นำทีมลงพื้นที่ไปที่อำเภอหย่งคังเพื่อดำเนินงานผู้นำเมืองและอำเภอร่วมกันรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

คืนนั้น เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านเฟิ่งซิง ตำบลเฉิงเฟิงได้มาขอความช่วยเหลือในนามของชาวบ้าน โดยขอให้ผู้นำเมืองฝูโจวจัดสรรเงินเพื่อสร้าง“จีเกิงลู่”ซึ่งคือถนนสำหรับนำเครื่องจักรกลการเกษตร (รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ ) เข้า-ออกทุ่งนา

เรื่องมีอยู่ว่า หมู่บ้าน 43 หมู่บ้านในอำเภอหย่งไท่ไม่มีถนนเชื่อมสู่ภายนอก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตและการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากไม่มีถนนเกษตรกรที่นี่มี “ความกลัวสามประการ” อันได้แก่ ประการแรก กลัวหมูอ้วนเพราะจะทำให้น้ำหนักมากจนไม่สามารถหามออกไปข้างนอกได้ ประการที่สอง กลัวต้นไม้สูงเพราะจะทำให้ไม่สามารถขนส่งออกไปได้เช่นกัน ประการที่สาม กลัวเด็กเติบโตเป็นหนุ่มเพราะฐานะยากจนเป็นเหตุให้หาลูกสะใภ้ได้ยาก มีคําพูดติดตลกที่แพร่หลายในท้องถิ่นว่า “ได้รับการปลดแอกมาแล้ว 40 ปี ทุกปีตั้งตารอทางหลวง หากสวรรค์มีตา ขอให้เนรมิตถนนแห่งความสุขมาให้โดยเร็ว”

หลังรับทราบที่มาที่ไปแล้ว นายสี จิ้นผิงกล่าวว่า “หากไม่มีถนนก็ไม่มีทางรวยได้ หากต้องการรวยก็ต้องสร้างถนนโดยเร็ว ความตั้งใจและความกระตือรือร้นของพวกคุณเป็นสิ่งที่ดี แต่การสร้างถนน “จีเกิงลู่” ระดับหมู่บ้านควรอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ควรพึ่งพามวลชนในการระดมทุนและจัดหาแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหา”

นายสี จิ้นผิงยังได้เล่าประสบการณ์ของเขาในการสร้างถนนร่วมกับสมาชิกของคอมมูน(ชุมชน)เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหน่วยการผลิตให้ฟัง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับผู้มาเยือน

ผู้มาเยือนจำนวนไม่น้อยต่างก็อุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจ้าหน้าที่ผู้นำได้กลับมายังแผ่นดินแล้ว พบที่พึ่งแล้ว”

นายสี จิ้นผิงก็มีอารมณ์ความรู้สึกมากมาย โดยเห็นว่า การที่ผู้นำเมืองลงพื้นที่รากหญ้าเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนนั้นดูเป็นเรื่องใหม่มาก แต่พรรคคอมมิวนิสต์กับมวลชนควรสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นดั่งเลือดเนื้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผ่านการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทุกคนมีแนวคิดใหม่ๆ มากมายอยู่ในใจ ในอนาคต เราจะหาวิธีและสร้างรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงวิถีความเป็นผู้นำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้นำในทุกระดับไม่ลืมจุดประสงค์ของพรรคและยกระดับจิตรสำนึกความเป็นผู้รับใช้ประชาชน

นายสี จิ้นผิงชี้ให้เห็นในการประชุมว่าด้วยการศึกษาวิจัยประเด็นเฉพาะเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1993 ว่า สำหรับเรื่องที่มีการตัดสินแล้วในระหว่างการรับเรื่องร้องเรียนนั้นจำต้องดำเนินการให้เป็นจริงทุกประการและแจ้งผลให้ประชาชนได้ทราบ จึงจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การรับเรื่องร้องเรียนเปรียบเสมือนกระจกเงาที่สามารถสะท้อนช่องว่างและจุดอ่อนในงานของเรา และพบประเด็นร้อนและปัญหาที่ยากลำบากในขณะนั้น ปัญหาที่พบในระหว่างการรับเรื่องร้องเรียนนั้นควรนำมาเป็นกรณีศึกษา เรียนรู้ไว้เป็นอุทาหรณ์ ดำเนินการแก้ไขทั้งปัญหาและต้นเหตุอย่างเป็นระบบ ผู้นำทุกระดับต้องลงพื้นที่พบปะระดับรากหญ้าและมวลชนบ่อยๆ ตรวจตราสภาพพื้นที่ที่สัญจรผ่านไปมา สังเกตสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน รับฟังอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน พบและแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

http://www.tcjapress.com/2023/08/21/xi-way-48