วัฒนธรรมจีนเข้าสู่อาเซียน ณ ประเทศไทย

0
582
 
กรุงเทพฯ – เพื่อเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยจีน สำนักพิมพ์เวิลด์ แอฟแฟร์ส เพรสร่วมกับสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯจัดงาน“วัฒนธรรมจีนเข้าสู่อาเซียน ณ ประเทศไทย”เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ งานนี้ยังได้กรมวิเทศสัมพันธ์มณฑลซานตงและกรมวัฒนธรรมมณฑลซานตงเป็นผู้สนับสนุน ในพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายหลิว เจิ้นหมิน รมต.ช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและแขกผู้มีเกียรติรวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
โครงการ“วัฒนธรรมจีนเข้าสู่อาเซียน”เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสำนักพิมพ์เวิลด์ แอฟแฟร์ส เพรส สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศในอาเซียน แลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนาวัฒนธรรมส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชนด้วยการแสดงวัฒนธรรมจีน จำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม พัฒนาบุคคลที่มีความสามารถ สัมมนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการซื้อขายลิขสิทธิ์ ร่วมกันตีพิมพ์หนังสือ โดยผ่านทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
 
นายหลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนคาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะใช้จุดเด่นของวัฒนธรรมอันโดดเด่นของจีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด พัฒนาการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีนในเชิงลึก เสริมสร้างความเข้าใจและมิตรภาพ เพิ่มสีสันให้กับความร่วมมือแบบทวิภาคี ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระหว่างไทยจีนให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า แม้ประเทศไทยและประเทศจีนจะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันและคนไทยจะเข้าใจวัฒนธรรมจีนได้ดีแต่ก็เป็นวัฒนธรรมรุ่นก่อน ไม่ใช่วัฒนธรรมยุคใหม่ วันนี้ไทยยังรู้จักแต่วัฒนธรรมจีนแบบขงจื้อเท่านั้นไม่ได้ แต่เราต้องเรียนรู้วัฒนธรรมจีนยุคใหม่แบบ เติ้ง เสียวผิง สี เจี้ยน ผิง หรือ แจ๊ก หม่า ด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยได้พยายามให้คนไทยเรียนรู้และเข้าใจเพื่อให้เราคบค้า ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์กับจีนได้อย่างสนิทแนบเเน่นไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมยุคเก่า หรือยุคใหม่ก็ตาม
ด้านนายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวว่าหวังว่าองค์กรทางวัฒนธรรมไทยและจีนจะใช้โครงการนี้เป็นดั่งจุดเริ่มต้นในการเชื่อมต่อแนวคิดและการพัฒนา เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือ ศึกษารูปแบบใหม่ๆโดยเฉพาะด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมข่าวและการตีพิมพ์ ร่วมกันบุกเบิกตลาดต่างประเทศ สร้างเครือข่ายจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม รูปแบบความร่วมมือที่เสมอภาค เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อนนำวัฒนธรรมจีนเข้าสู่อาเซียนทตามแนวนโยบายยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(One Belt One Road) ของประเทศจีน ในการนำวัฒนธรรมจีนออกมาเผยเเพร่ในต่างประเทศ เพื่อกระชับและส่งเสริมมิตรภาพ สัมพันธ์ภาพระหว่างประเทศให้สนิทแน่นเเฟ้นขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นหลักของกระทรวงต่างประเทศจีน ที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา เป็นหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางด้านวัฒนธรรม ที่จะช่วยเชื่อมโยงวัฒนธรรม มรดกและภูมิปัญญาของปราชญ์และศิลปิน ซึ่งถือเป็นงานสุดยอดของมณฑลซานตง ประเทศจีน มายังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการสัญจรหมุนเวียนไปจัดกิจกรรมในแถบประเทศอาเซียนทั้งหมด โดยเริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศไทย และจัดขึ้นต่อเนื่อง 2 วัน
 
นายหม่า ฟ่งชุน ผอ. สำนักพิมพ์เวิลด์ แอฟแฟร์ส เพรส เปิดเผยว่าโครงการนี้ได้นำทรัพยากรของสำนักพิมพ์มาใช้ประโยชน์ให้เกิดสูงสุด ผลักดันวัฒนธรรมจีนให้ก้าวออกไปตามแนวคิด “ก้าวออกไป” ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมข่าวและการตีพิมพ์ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาอย่างเป็นสากลมากขึ้น
 
กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในประเทศไทยและลาวช่วงระหว่างวันที่ 31 มีนาคมถึง 4 เมษายนศกนี้ โดยไทยถือเป็นสถานที่แรกของการเริ่มกิจกรรมฯ ซึ่งงานนี้นอกจากการแสดงด้านวัฒนธรรมอย่างอลังการน่าตื่นเต้นบนเวทีแล้วทางสำนักพิมพ์ยังได้คัดเลือกหนังสือกว่า 800 เล่ม ผลงานศิลปะการเขียนและพู่กันจีนกว่า 100 ชิ้นเพื่อจัดแสดงในงาน ซึ่งหนังสือที่คัดมาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีจีน รวมถึงบุคคลสำคัญของจีน นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการในหัวข้อการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนบนเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและงานบรรยายเชิงวัฒนธรรมนิทานแห่งประเทศจีน รวมถึงการแสดงมรดกทางวัฒนธรรมและกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย
 
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿