ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

0
920

การสัมมนาวิชาการ เรื่อง การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กทม. โดยนายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนาเรื่อง “การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP)” ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (เอสแคป) กรุงเทพฯ โดยได้ย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการผลักดันหลักการ UNGP ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและตั้งบนพื้นฐานหลักการและภูมิปัญญาของไทย รวมถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นายกรัฐมนตรียังได้เป็นสักขีพยานการลงนามใน “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” โดยประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการหอการค้าไืทย กรรมการสมาคมธนาคารไทย และประธานเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดยการสัมมนาเน้นการบรรยายสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักการ UNGP ที่ตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การคุ้มครอง (Protect) การเคารพ (Respect) และการเยียวยา (Remedy) โดยนำเสนอมุมมองทั้งจากสหประชาชาติ (โดยประธาน UN Working Group on the Issues of Human Rights and Transnational Corporation and other Business Enterprises นาย Michael Addo และสมาชิก นาย Dante Pesce) ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมและมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

โดยภายในงานมีบุคคลสำคัญจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมอย่างมากมาย  เช่น คุณวัส ติงสมิตร  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  คุณเตือนใจ ดีเทศน์ คุณฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ฯลฯ คณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ดร. เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย) นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธานกรรมการบริษัท ดีวาน่ากรุ๊ป จำกัด (ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้)

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT)  ในการมาร่วมลงนามโดยเครือข่ายนี้เกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชนชั้นนำของไทย 15 องค์กร ที่เป็นสมาชิก UN Global Compact และมีการส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ คุณศุภชัย เจียรวนนท์  กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องบรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ธุรกิจและสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน แต่หลักการและแนวปฏิบัติเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมมือกัน นอกจากนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละภาคธุรกิจ รวมถึงการละเมิดในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจนั้นๆ ยังแตกต่างกันด้วย GCNT จึงภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายรวม 8 องค์กรในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานหลักของ GCNT ที่เน้นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และมีพันธกิจหลักมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมเป็นสมาชิก GCNT เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในประเทศไทยให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายทั้ง 8 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย