ไทยได้รับประโยชน์อย่างไร จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

0
0

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 เป็นความหวังของผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลบวก ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุน

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการมาเยือน นักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย  ในปีพ.ศ. 2562ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยประมาณ 11 ล้านคน  ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าว่า หลังจีนผ่อนคลายมาตรการโควิด-19บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัว ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 5 ล้านคนมาเที่ยวประเทศไทย  

การเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ยังจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินจำนวนมากที่ช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวไทย

นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ไทยและจีนมีความเชื่อมโยงแน่นแฟ้นในหลายมิติ มีความร่วมมือกันหลายด้านด้านการลงทุน ไทยมีการส่งเสริมการลงทุน และพร้อมรับนักลงทุนจากจีนในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมอัจฉริยะต่างๆ ที่จีนมีความเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้  ไทยยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งกับจีนและภูมิภาค เช่น การพัฒนาพื้นที่ EEC เชื่อมโยงกับเส้นทางโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ขอจีน และเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta)ของจีน การเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน– ลาว กับระบบรางของไทย ซึ่งจะช่วยเชื่อมการขนส่ง การค้า การลงทุน ระหว่างไทย จีน และประเทศอื่นๆ

ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอนุภูมิภาค เช่นโครงการแม่โขง–ล้านช้าง การพัฒนาเขตการค้าเสรีไห่หนาน ระเบียงเศรษฐกิจปักกิ่ง เทียนสิน เหอเป่ย์ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงของจีน ความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น

นอกจากนี้  ไทยยังสนับสนุนแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative: GDI) ของจีนซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลายฝ่ายจึงหวังเห็นการเดินหน้าขับเคลื่อนแผนความร่วมมือและโครงการต่างๆ ระหว่างไทยและจีนที่เข้มข้นขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : ชยางกูร นักร้อง