ดร.สมคิดฯ ส่งเทียบเชิญนักลงทุน ฮ่องกง จีน เชื่อมโอกาสเส้นทางสายไหม

0
154

ดร.สมคิดฯ ส่งเทียบเชิญนักลงทุน ฮ่องกง จีน นำคณะพบนายกฯ โชว์ศักยภาพภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ “อีอีซี”พร้อมติดสปีดหน่วยเศรษฐกิจไทย ดัน S – Curve เชื่อมโอกาสเส้นทางสายไหม

กระทรวงอุตฯ จับมือพาณิชย์ เดินเกมส์รุก ตั้งเป้าเป็นหน่วยกลางประสานงาน ฮ่องกง-ไทย เร่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและดึงดูดการลงทุน พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจ Business Matching นำเจ้าสัวใหญ่ฮ่องกง – เซี่ยงไฮ้ พบเจ้าสัวไทย เล็งขยายผลต่อให้ถึง SMEs ไทย

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เร่งหารือการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ระหว่างไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รุกจัดสัมมนาการลงทุนไทย – ฮ่องกง – เซี่ยงไฮ้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พร้อมด้วยนักธุรกิจทั้งจากฝั่งไทยและฮ่องกงเข้าร่วมเสนอแนะและรับฟังนโยบายกว่า 300 ราย เผยเตรียมใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของไทยในอาเซียน และความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนกับมณฑลตอนใต้ของจีน พร้อมชูยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของไทยเป็นจุดขาย เพื่อเชิญชวนภาคเอกชนให้มาลงทุนภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) มากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมเปิดงานสัมมนา ในวันที่ 8 พฤษภาคม ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเพื่อหารือผู้บริหารภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมทั้งสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council – HKTDC) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของฮ่องกงในฐานะที่เป็นฮับหรือศูนย์กลางในการผนึกเศรษฐกิจระหว่างจีน – อาเซียน และยังถือเป็นประตูการค้า การลงทุนที่สำคัญ ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังมณฑลและบริเวณเขตเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศจีนโดยรอบ โอกาสดังกล่าวถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการขยายตัวและเพิ่มมูลค่าให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้น หลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ของไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเกิดการขยายความร่วมมือกับเขตบริหารพิเศษดังกล่าวในบริบทและรูปแบบที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของรัฐบาลได้เร่งสร้างความต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ฮ่องกง ให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่างๆ ที่สูงขึ้นได้ต่อไป

ดร.สมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทของฮ่องกงนั้นถือว่าเป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมา ฮ่องกงมีการนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4 แสนล้านบาท  และในขณะนี้ยังถือเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้การริเริ่มนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือโครงการเส้นทางสายไหมเก่า ของประเทศจีนประสบความสำเร็จได้ ซึ่งในอนาคตต่อไปเส้นทางดังกล่าวกำลังจะขยายการเชื่อมโยงสู่ทางทะเล สามารถส่งผลต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย ( กลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก)  แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งยังมีแนวโน้มที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงถึงยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้ที่จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ในโอกาสดังกล่าวประเทศไทยจึงต้องเร่งใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของกลุ่มประเทศ CLMV ในการพัฒนาศักยภาพความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งหากสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงอาเซียนกับมณฑลตอนใต้ของจีน โดยมีไทยและฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง ซึ่งจะเป็นข้อดีในการได้รับผลประโยน์ในรูปแบบ Win – Win ของทั้งสองประเทศในอนาคต

จากการเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ฮ่องกงดังกล่าว ทำให้สภาพัฒนาการค้าฮ่องกงมีมติเห็นชอบในการนำคณะผู้บริหารภาคเอกชนและนักลงทุนจากฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหารือด้านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างกัน โดยได้มีการจัดสัมมนาการลงทุนไทย – ฮ่องกง – เซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 8 – 9 พ.ค. นี้ ณ ประเทศไทย โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ และมณฑลเซี่ยงไฮ้ อาทิ สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พร้อมด้วยนักธุรกิจทั้งจากฝั่งไทยและฮ่องกงเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนะและนโยบายกว่า 300 ราย โดยกรอบเนื้อหาความร่วมมือหลักจะมุ่งไปที่การพัฒนาการใช้พื้นที่ เส้นทางคมนาคม และอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมาย อาทิ การนำเสนอนโยบาย Thailand 4.0 และเชิญชวนภาคเอกชนให้มาลงทุนในไทยโดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซูเปอร์คลัสเตอร์ ระบบการขนส่งสาธารณะ ภายใต้โครงการเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (ETO) ในไทย เป็นต้น

รวมถึงเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย การหารือเรื่องการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยเฉพาะการเข้าถึงสินค้าและวัตถุดิบจากกลุ่ม CLMV การจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุนทั้งสองประเทศจะได้รับ โดยในโอกาสสำคัญในครั้งนี้ยังจะได้มีการนำคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของทุกฝ่ายเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความมั่นใจและแสดงถึงความพร้อมของโครงการดังกล่าว สำหรับประกอบการตัดสินใจร่วมลงทุน ต่อเนื่องถึงการวางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ต่อไปในอนาคต ดร.สมคิด กล่าวปิดท้าย

ด้าน ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สสว. กับ HKTDC เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย HKTDC ถือเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของฮ่องกง มีการจัดงานนิทรรศการในระดับสากลกว่า 30 งานต่อปี มีการจัดการเชื่อมโยงธุรกิจ Business Matching การสร้างช่องทางการขายผ่าน Online Marketplace รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เข้าสู่ตลาดสากลด้วย ดังนั้น ในโอกาสที่ HKTDC เดินทางมาเยื่อนประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการขยายผลต่อเนื่องในด้านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นผลักดันให้ HKTDC และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการร่วมทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจระเบียงตะวันออก (EEC) ของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พร้อมไปด้วยสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความรวดเร็วและทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยพื้นที่ EEC ยังจะถูกพัฒนาให้เป็นมหานครแห่งอนาคตที่จะเป็นทั้งศูนย์กลางแห่งการจัดตั้งวิสาหกิจ การค้า การลงทุน การขนส่งของภูมิภาค แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนยังจะเป็นประตูสู่เอเชียและเชื่อมโยงกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ผู้ประกอบการและผู้ดำเนินธุรกิจของไทย จีน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ หรืออื่นๆ ได้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน พร้อมก้าวสู่เวทีการค้าระดับสากลได้มากขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202 4435 หรือเข้าไปที่ www.industry.go.thหรือ facebook.com/industryprmoi