4 นิคมไทย-จีน เซ็น MoU ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

0
953

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกับ นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) และ TAP Magazine (China-ASEAN Panorama Magazine) จัดสัมมนา “เจาะลึกโอกาสการลงทุน เมืองฉงจั่ว ประตูสู่อาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road” พร้อมทั้งทำพิธีลงนามความร่วมมือ (MoU) เพื่อส่งเสริมการลงทุนไทยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนภายใต้นโยบาย One Belt One Road โดย นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ ตัวแทนจาก 4 นิคมอุตสาหกรรมที่ลงนามความร่วมมือ (MoU) ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว, นิคมอุตสาหกรรมระยอง, บริษัท สยามอีสเทิร์น อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด และเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร โดยมีผู้ประกอบการไทยและจีนกว่า 100 คน เข้าร่วมงาน

นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำข้อตกลงนี้ เป็นรูปแบบ 2 ประเทศ 4 นิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวสู่แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Thailand 4.0 ได้อย่างเข้มแข็งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการของไทยในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและก้าวสู่ระดับอาเซียน

หลาว หนิงจวิน รองนายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว มณฑลกวางสี เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) เป็นการผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน ซึ่งเมืองฉงจั่วเป็นประตูสู่อาเซียน มีจุดแข็งหลายประการ เช่น ที่ตั้งใกล้กับพื้นที่ชายแดน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ใกล้ท่าเรือ และใกล้เมืองเอกของมณฑล ได้รับการสนับสนุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การคมนาคมสะดวกทั้งทางทะเล ทางบก และทางอากาศ มีแหล่งทรัพยากรที่ดิน แร่ การเกษตร และป่าไม้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมลงทุนแล้วจำนานกว่า 86 ราย อาทิ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ของไทย เป็นต้น

ด้าน จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แม้ปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการลงทุนอยู่ ทางหอการค้าไทย-จีน ได้ผลักดัน พัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และจะทำหนังสือเกี่ยวกับการลดปัญหาอุปสรรคการลงทุนและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) มีการส่งเสริมให้เป็นฐานการผลิตพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมวัสดุรูปแบบใหม่ การแปรรูปอาหารที่มีลักษณะเด่นในอาเซียน อุตสาหกรรมไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น น้ำตาลอ้อยแบบหมุนเวียน และบริการทันสมัย การท่องเที่ยวและพักผ่อนแบบไทย โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเติบโตขึ้น 33%