สัมมนาทางวิชาการ “The Belt and Road” and “Thailand 4.0” : Strategic Cooperation

0
286

ประเทศไทยและจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระดับของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยมี ความร่วมมือกันในมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ ก้าวไปสู่การเป็นมิตร ประเทศที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญความร่วมมือระหว่างไทยและจีนยังได้นำไปสู่การทำคุณประโยชน์ต่อภูมิภาคร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road Policy หรือ The Belt and Road Initiative) ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้ความสำคัญนั้น สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยในด้านการเชื่อมโยงภูมิภาค (connectivity) ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญ และถือว่าเป็นชาติที่มีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภูมิภาค

ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบาย ไทยแลนด์๔.๐ ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสังคมดิจิตอลในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นประเทศโลกที่ ๑ ในบริบทของไทย โดยเน้นการพัฒนาที่สมดุลใน ๔ มิติ ได้แก่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การมีสังคมที่อยู่ดีมีสุข การเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์  โดยในมิติความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจได้ทวีความสำคัญมากขึ้น ประเทศจีนได้กลายมาเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นๆ ของไทย รวมทั้งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากที่สุด  การสร้างความร่วมมือกับจีนในลักษณะ“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาแนวทางการพัฒนา ให้เป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสการพัฒนาสู่ประเทศสังคมพื้นฐานความรู้ซึ่งการวิจัยถือได้ว่า เป็นเครื่องมือหรือหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้ที่จะนามาแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือเพื่อการพัฒนา

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “The Belt and Road” and “Thailand 4.0” : Strategic Cooperation ขึ้นมาเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๙.๐๐-๑๕.๐๐ น. ณ  อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ผลการสัมมนามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล และส่งเสริมให้นักวิจัย/นักวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ด้านยุทธศาสตร์ไทย – จีน รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย – จีน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประมาณ ๑๖๐ คน และรูปแบบการสัมมนาแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ ในภาคเช้า เป็นการบรรยายนำโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อประมวลประเด็นที่เกี่ยวข้อง และช่วงบ่ายเป็นการสัมมนาแบบโต๊ะกลม ในลักษณะ Workshop เพื่อระดมสมองในการพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล

๒. ข้อพิจารณาจากการบรรยายของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ (ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ศิริไกร กีรตยาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ รวมทั้ง นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

๒.๑ ในระดับยุทธศาสตร์ พบว่า จีนต้องการผลักดันความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในแบบ win-win กับประเทศต่างๆ ซึ่งต้องการเงินทุนและเทคโนโลยีจากจีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มุ่งพัฒนาประเทศให้นำไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าบริโภคไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสู่ภาคบริการ นอกจากนี้ จีนยังต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคปิดล้อม โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบมะละกา

๒.๒ ในระดับภูมิภาค พบว่า จีนมุ่งใช้ชาวจีนโพ้นทะเลในการผลักดันวงรอบกรอบพื้นที่ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (มณฑลยูนนาน) กับห้าโซนในเขตตะวันตก (มณฑลกุ้ยโจว เขตปกครองตนเองกวางสี มณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง และ เขตปกครองตนเองทิเบต) ให้เป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางนำไปสู่ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

๒.๓ ในระดับพื้นที่ พบว่า มีการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในขณะที่อาจส่งผลกระทบต่อด้านความมั่นคงจากการดำเนินนโยบายของจีนแบบมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) หลังจากลูกเรือจีนถูกสังหารในขณะเดินเรือในแม่น้ำโขง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖

๓. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล อันเป็นผลมาจากการสัมมนาแบบโต๊ะกลม

๓.๑ ประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นศูนย์กลาง (Hub) ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาค อันจะส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road Policy) ของจีน ดังนั้น จึงควรหาข้อแตกต่างในศักยภาพที่มีอยู่ โดยเฉพาะที่เป็นความถนัดและการมีที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ รวมทั้งขีดความสามรถที่ต้องพัฒนาขึ้นสำหรับประเทศไทย เพื่อใช้เป็นจุดแข็งในการกำหนดเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ เช่น การเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่ง การเป็นศูนย์กลางของพืชเมืองร้อน การเป็นศูนย์กลางของการนวดสปา และการเป็นศูนย์กลางของแฟชั่น เป็นต้น

๓.๒ นำเป้าหมายที่กำหนดได้มาพิจารณาระดับขีดความสามารถเพื่อกำหนดทิศทางในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพื่อการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งทำให้สามารถจำแนกการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของประเทศไทยได้ ๓ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ Training Hub (ศูนย์กลางการฝึกอบรม) Service Hub (ศูนย์กลางการบริการ) และ Research Hub (ศูนย์กลางการวิจัย) เป็นต้น

๓.๓ จัดทำโครงการโดยจัดเป็นกลุ่มๆ (Cluster) เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาจากขนาดความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อันจะนำไปสู่การออกแบบ (Design) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรมตามโมเดลประเทศไทย ๔.๐

๓.๔ สร้างความร่วมมือกับจีนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในด้านต่างๆ

บทสรุป อาจกล่าวได้ว่า วช. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนให้มีการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย – จีน โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย รวมทั้งการศึกษาร่วมกันระหว่างไทย – จีน ซึ่งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน จะเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์การวิจัย เพื่อที่จะได้มีผลการวิจัยที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศร่วมกันระหว่างไทย – จีน โดยเฉพาะนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road Policy หรือ Belt and Road Initiative) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในด้านการเชื่อมโยงภูมิภาค (Connectivity) ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ วช. จะได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับจีนต่อรัฐบาล ในฐานะที่ วช. เป็นหน่วยงานคลังสมองของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายการวิจัยในการสร้างฐานข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลสำหรับประกอบการพิจารณาตกลงใจในการดำเนินนโยบายต่อประเทศจีน

 

สรุปความโดย พันเอก ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ สำเร็จการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ จากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองภูมิภาคศึกษา ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย