วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. เน้นร่วมมือข้ามสถาบันฯกับประเทศจีน

0
474

การขนส่งทางอากาศเป็นการเคลื่อนย้ายผู้คนและสิ่งของที่มีความรวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีบุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน เช่น ท่าอากาศยาน สายการบิน นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานบริการภาคพื้นดิน พนักงานอำนวยการบิน พนักงานซ่อมบำรุงอากาศยาน และพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งหน่วยงาน และบุคลากรเหล่านี้จะให้บริการแก่เครื่องบิน ผู้โดยสาร สินค้า และวัสดุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้รวดเร็วและปลอดภัย

บุคลากรต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน และตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว จะต้องได้รับการศึกษา การฝึกอบรมมาอย่างมีคุณภาพ และเป็นมาตรฐานสากล สถาบันการศึกษาหลายแห่ง จึงจัดทำหลักสูตร และเปิดการเรียนการสอนด้านการบิน เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านการบินดังกล่าว และนั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการพัฒนาสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งของไทย ในการจัดการเรียนการสอนและฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน โดยจัดตั้ง “วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (College of Aviation Development and Training: CADT)”  ซึ่งมีหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานสากลในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และจีน โดยเป็นความตั้งใจของ นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา  มานนท์  คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งมีเป้าหมายในการปั้นนักศึกษาของ CADT ออกไปปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการบินอย่างมีคุณภาพ โดยมีความรู้ทางทฤษฎี มีทักษะเชิงปฏิบัติ และมีทัศนคติที่ดีมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ

ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการบิน โดยมีสายการบินต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มีการแข่งขันทั้งในด้านราคาค่าโดยสาร และการบริการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรธุรกิจการบิน เพื่อจัดการเรียนการสอนนักศึกษาให้มีความรู้เป็นมาตรฐาน มีความเชี่ยวชาญงานบริการ เข้าไปทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการบิน เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานบริการภาคพื้น พนักงานฝ่ายการโดยสาร พนักงานฝ่ายท่าอากาศยาน เป็นต้น นอกจากนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) ยังเปิดหลักสูตรธุรกิจการบิน ภาคพิเศษเรียนเฉพาะ วันเสาร์ – อาทิตย์ ในปีการศึกษา 2560 อีกด้วย เพื่อรองรับนักศึกษาที่ทำงานในวันจันทร์ – ศุกร์ หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มความรู้ และทักษะในธุรกิจการบิน นำไปประยุกต์ใช้งานในปัจจุบัน และอนาคตอีกด้วย

ในปีการศึกษา 2560 วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังได้เปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน วิชาเอกการจัดการอำนวยการบิน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทางวิชาการ และภาคปฏิบัติในด้านการจัดการอำนวยการบิน (Flight Operation Management) เข้าไปทำงานเป็นพนักงานอำนวยการบิน เจ้าหน้าที่พิธีการบินประจำท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารการบิน เป็นต้น ซึ่งในหลักสูตรได้จัดรายวิชาให้นักศึกษาได้ศึกษา และเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยด้านการบิน รวมถึงเปิดรายวิชานักบินส่วนบุคคล ให้นักศึกษาที่สนใจจะเป็นนักบินเพื่อไปศึกษาต่อยอดในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ต่อไป

นอกจากนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน ยังได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับสถาบันการศึกษาด้านการบินในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ได้แก่ Sanya University, Sanya Aviation and Tourism Collage และ Yunnan College Foreign Affairs and Foreign Language เป็นต้น เพื่อจัดการศึกษาและฝึกอบรมให้นักศึกษาของสถาบันดังกล่าวให้มีความรู้ ประสบการณ์ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้จะได้เข้ามาศึกษา ภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย เพื่อการเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและฝึกอบรมด้านการบินอีกด้วย

ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินจะต้องมีความเป็นมาตรฐาน ทั้งด้านหลักสูตร และอาจารย์ผู้สอน วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) จึงสมัครเป็นสมาชิกศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) และผ่านการประเมินเป็น สถาบันฝึกอบรมด้านการบิน Authorized Training Center (ATC) โดยการเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ใช้มาตรฐานของ IATA ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จะได้รับใบประกาศนียบัตรของ IATA  ซึ่งแสดงถึงความเป็นมาตรฐานของการเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทย และภูมิภาค อีกด้วย

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา  มานนท์  กล่าวว่า ทุกหลักสูตรที่วิทยาลัยฯเปิดสอน  มุ่งเน้นให้นักศึกษา และผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เตรียมความพร้อมในด้านประสบการณ์ตรงในองค์การการบิน เพื่อเข้าไปปฏิบัติงานได้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยให้โอกาสนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติสหกิจศึกษาในสถานประกอบการจริง เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงจาก สถานประกอบการก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้เรียนนำไปต่อยอด ปรับใช้ในการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องรอให้เรียนจบ ซึ่งผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่มีความร่วมมือทางวิชาการ และมีการหารือความร่วมมือไว้แล้ว เช่น สายการบินนกแอร์ สายการบินนกสกู๊ต สายการบินไทยสมายล์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

จากองค์ความรู้ด้านการบินต่าง ๆ เป็นไปตามแนวทางการให้การศึกษาและฝึกอบรมของวิทยาลัยฯ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียน ที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คือ “เรียนคุ้ม มาตรฐานครบ จบแล้วมีงานทำ” สามารถออกไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการบินของไทย และภูมิภาคอาเซียน และจีน โดยมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสามารถต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน  ** สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างอนาคตกับการบิน สมัครเรียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2560