ทำนวัตกรรมทำไมสำเร็จยาก?

0
835

บทความด้านนวัตกรรมจาก
ดร.พยัต วุฒิรงค์
นักบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างคุณค่า
Global Head of Innovation,
The World’s Most Valued Business

ทำนวัตกรรมทำไมสำเร็จยาก?
_____________________________________________________________________

“การทำนวัตกรรมชิ้นนึงให้สำเร็จทำไมถึงยากจัง”

นี่เป็นประโยคที่ผมได้ยินบ่อยที่สุด!!! ตลอดหลายปีที่ทำงานด้านนวัตกรรมให้องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยหลายๆ แห่ง รวมถึงองค์กรเอกชนทั้งใหญ่ระดับประเทศ และผู้ประกอบการ SME

จริงๆ แล้วหากเราเข้าใจกระบวนการทำนวัตกรรมที่ถูกต้อง เราจะร้องอ๋อ…ทันที

ถ้าเอานิยามแบบเข้าใจง่าย ‘นวัตกรรม’ มันก็แค่การใส่ ‘คุณค่าเพิ่ม’ หรือ Value เข้าไปในอะไรซักอย่าง ทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่เรายังไม่เคยทำ ไม่เคยมี และเกิดประโยชน์ต่อผู้ส่วนได้ส่วนเสียกับตัวเรา องค์กรเรา หรือ Stakeholder นั่นเอง

‘นวัตกรรม’ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวสินค้า แต่สามารถเป็นบริการ กระบวนการ วิธีการทำงานแบบใหม่ๆ หรือรูปแบบโมเดลธุรกิจก็ได้ เหมือนเช่น Uber หรือ Grab ที่เป็น Application ใช้แก้ปัญหาการเรียก Taxi ไม่ได้ของคนในเมืองใหญ่นั่นเอง จะเรียกว่ามันคือนวัตกรรมสินค้าก็ไม่มีอะไรจับต้องได้ จะเรียกว่านวัตกรรมบริการ ก็อาจไม่ถูกดีนัก App เหล่านี้เป็นทั้งบริการ กระบวนการและโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้

สรุปง่ายๆ “นวัตกรรม คืออะไรก็ได้ที่ทำเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ และมันเกิดขึ้นได้ตลอดทุกที่ทุกเวลาไม่มีที่สิ้นสุด”

ความยากในการทำนวัตกรรมให้สำเร็จที่เราชอบบ่นกัน จริงๆ แล้วแบ่งออกเป็นสองช่วงหลักๆ

ช่วงแรกคือ ช่วงคิดไอเดีย!!
เราควรทำอะไรดี ดูไปดูมาก็มีคนคิดแล้ว คิดไปคิดมาอีกทีก็ตันอีก เลิกคิดซะเลย!!

ผมอยากเสนอวิธีการง่ายๆ ในการคิดไอเดียของคุณขึ้นมา ,,, ถ้าคุณเจอคนบ่นอะไร หรือเจออะไรที่ขัดหูขัดตา จดไว้ก่อน จดทุกวัน นั่นแหละคือที่มาของนวัตกรรม หรือเราจะเรียกมันว่า จุด’เอ๊ะ’

ถ้าคุณเจอหลายๆ ‘เอ๊ะ’ แสดงว่าโอกาสในการทำนวัตกรรมสำเร็จมาถึงแล้ว

อย่าไปคิดอะไรที่ยากเกินไป บางครั้ง “นวัตกรรมคือการแก้ปัญหายากๆ ด้วยสิ่งง่ายๆ เท่านั้น”

ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่เราคิดได้แล้ว ทำต้นแบบได้แล้ว แต่เราไม่สามารถส่งต่อไปถึงคนอื่นได้ คือเราไม่สามารถ Commercial มันได้ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ได้ เราทำได้แค่การเอาสิ่งนั้นไปจดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ แต่ผลิตจริงยังไม่ได้ ไม่มีใครเอาเพราะสิ่งที่เราคิดอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหาของผู้ใช้จริงๆ

ช่วงนี้จะเป็นมากในงานของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัย เพราะเราอาจเริ่มต้นที่ความชอบ ความถนัดแต่ไม่ได้เริ่มต้นจากปัญหา (Problem) แล้วหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหานั้นจริงๆ (Solutions)

วิธีแก้ง่ายๆ ให้งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์กลายเป็นนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์ก็แค่พยายามทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ของคนที่มีปัญหาหลายๆ คนก็พอ ซึ่งปัญหาอาจมาจากคำบ่น ความเจ็บปวด เสียงเรียกร้อง ข้อร้องเรียน หรือพฤติกรรมที่หงุดหงิดของคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย

“ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำนวัตกรรมไม่ได้”

ผมอยู่ในแวดวงนวัตกรรมมามากกว่าสิบปี คลุกคลีกับนวัตกรรมในทุกวงการตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตกรรม เภสัชกรรม วิศวกรรมก็ทำนวัตกรรมได้หมด หรือด้านสังคม ค้าปลีก ค้าส่ง ศิลปะ สถาปัตยกรรม การบริการ การบิน โรงแรมก็ทำนวัตกรรมได้ แม้กระทั่งภาครัฐเอง หลายแห่งก็ทำนวัตกรรมจนสำเร็จเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาการให้บริการอย่างมากเช่น ระบบการทำ Passport ของกระทรวงต่างประเทศก็ถือเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่ดีของไทย

ไม่ว่าเราจะอยู่วงการไหน ก็ทำนวัตกรรมให้สำเร็จได้ แค่เราเริ่มต้นที่ ‘ปัญหา’ ไม่ได้เริ่มต้นที่คำว่า ‘มันทำไม่ได้หรอก’

ความยากที่สุดในการทำนวัตกรรมให้สำเร็จอยู่ที่ ‘คุณ-“คิด”-ว่ามันทำไม่ได้’ ไม่ใช่เพราะคุณทำไม่ได้จริงๆ

วันนี้ผมอยากยกตัวอย่างนวัตกรรมง่ายๆ แต่สร้างประโยชน์แก่คนจำนวนมากให้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ

‘นวัตกรรม’ ชิ้นนั้นคือ ‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’

ฟังชื่อแล้วอาจไม่ใช่นวัตกรรมยิ่งใหญ่ที่ทำมาเพื่อเปลี่ยนโลก แต่มันคือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาของ ‘คน’ เป็นเบาหวาน

เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนคิดไอเดียว่าหามาจากไหน และกระบวนการเปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถผลิตจนส่งต่อถึงผู้ป่วยเบาหวานได้

ไอเดีย ‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ เริ่มจากปัญหา (Problem) ของคุณแม่ที่ป่วยเป็นเบาหวาน

นวัตกรรมปกป้องเท้าเกิดจากการที่ทีมงานผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้เคยร่วมคณะวิจัยเรื่องผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้รู้ถึงปัญหาแผลเรื้อรังที่เท้าและทีมงานท่านหนึ่งได้ไปเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต่างประเทศจะระวังการเกิดบาดแผลที่เท้าและใส่ถุงเท้าที่ออกแบบพิเศษเสมอๆ จึงได้ซื้อถุงเท้าแบบนี้จากประเทศอังกฤษมาให้คุณแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานใส่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพเท้าของคุณแม่มากๆ ต่อมาจึงพบว่าในประเทศไทย ถุงเท้าลักษณะนี้หาซื้อยาก และราคาสูงมากเนื่องจากต้องนำเข้า จึงมีความสนใจในตัวถุงเท้าและเริ่มทำการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยได้มีโอกาสใช้ถุงเท้าที่ได้รับการออกแบบโดยเฉพาะ เพื่ออนามัยของเท้าที่ดี

จะเห็นว่าไอเดียที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องง่ายๆ คือ มีคนต้องใช้จำนวนมาก มีความต้องการแฝง แต่หาซื้อยากและแพง!!!

คนส่วนใหญ่เมื่อเจอปัญหามักจะบ่น ทน เบื่อ แต่ “คนที่สำเร็จมักจะหาทางเปลี่ยนปัญหาเป็นทางออกเสมอ”

กระบวนการเปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถผลิตจนส่งต่อถึงผู้ป่วยเบาหวานได้

> เริ่มจากเข้าใจต้นตอปัญหา (Root Cause of Problem)

ถุงเท้าที่วางจำหน่ายทั่วไปไม่เหมาะสมกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการตัดเย็บมักจะมีตะเข็บ ไม่มีการเสริมความหนาของฝ่าเท้า ระบายอากาศได้ไม่ดี และขอบยางรัดแน่นเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

> คิดต่อให้เข้าถึงแก่นของผู้ใช้งาน (User Insight)

ทีมผู้ริเริ่มได้ทำการศึกษาจากผู้ป่วย และ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้าพบว่า แผลในผู้ป่วยเบาหวานจะหายยาก ประกอบกับการที่ปลายประสาทของผู้ป่วยเบาหวานรับรู้ได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นแผล ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดแผลจึงเป็นวิธีที่ดีสุด

หลังจากที่ได้ศึกษา ’ถุงเท้าที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน’ กับคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้าจากโรงพยาบาลในประเทศไทยจึงได้พบคุณสมบัติที่เหมาะสม แต่เมื่อได้ทำการค้นคว้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาดทั้งในไทยและในต่างประเทศปรากฎว่ายังไม่พบสินค้าไหนที่มีคุณสมบัติตามที่คุณหมอในประเทศไทยบอกทั้งหมด และ สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาที่ค่อนข้างสูงซึ่งถ้านำเข้ามาขายจะมีผู้ป่วยเบาหวานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถซื้อได้ จึงอยากที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองทำผลิตภัณฑ์ ‘ปกป้องเท้า’ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยให้หาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีได้ในราคาย่อมเยา

> พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ (Solutions)

‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ ถูกผลิตให้มีคุณสมบัติตามที่คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้าแนะนำ โดยถูกออกแบบและถักทอเป็นพิเศษทำให้ ถุงเท้าไม่มีตะเข็บ มีความนุ่มพิเศษลดแรงกระแทกตรงฝ่าเท้า ระบายอากาศได้ดี ไม่บีบรัดเท้า และ มีรุ่นกันลื่นซึ่งสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใส่ได้ขณะที่ใส่ในบ้าน ซึ่งเป็นถุงเท้าที่เหมาะผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุเจ้าแรกที่วางจำหน่ายในราคาย่อมเยา

ความยากในขั้นตอนนี้คือ เมื่อได้นวัตกรรมออกมาแล้ว เราจะกล้าผลิตหรือไม่

ความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสินค้าเรากับสินค้าที่อยู่ในตลาดเป็นสิ่งสำคัญมาก

บางคนมาตกม้าตายตอนนี้ “เริ่มที่ความอยาก จบที่ความเหมือน” ถ้าสิ่งที่ทำออกมาคล้ายกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาด มันก็จบครับ ผลิตปุ๊บเจ๊งปั๊บ หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ผลิตทั้งๆ ที่เสียเวลาศึกษามาเป็นปี มี Passion อยากทำ แต่ก็คงไม่มีใครอยากขาดทุน

จุดแตกต่างของนวัตกรรมปกป้องเท้ากับถุงเท้าผู้ป่วยเบาหวานต่างประเทศระดับโลกที่ไม่นับราคาต่ำกว่า หาซื้อง่ายกว่าคือ…ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในต่างประเทศพยายามมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมจากเส้นใย และวางจำหน่ายในราคาที่สูง ซึ่งคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นอาจจะไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้มีตัวผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากนักทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูง แต่ผลิตภัณฑ์ ‘ปกป้องเท้า’ พยายามมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติพื้นฐานซึ่ง เพียงพอต่อการปกป้องเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน

แม้ว่า ‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ ถูกพัฒนามาพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามด้วยคุณสมบัติพื้นฐานที่มีทำให้ ’นวัตกรรมปกป้องเท้า’ สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก

นี่คือจุดที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ ทำครั้งเดียวขายได้ทั่วโลก ถ้าเป็นเช่นนี้ความมั่นใจจะสูงขึ้น

ถ้าถามว่า ‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ สำเร็จได้ด้วยอะไร ผมตอบง่ายๆ เลยครับ ‘ปกป้องเท้า’ เป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาที่มีอยู่จริง ผู้ผลิตเข้าใจปัญหา เข้าถึงผู้ใช้ จนพัฒนาสินค้าที่มีความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอย่างแท้จริง

‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ ได้มีการศึกษาเชิงลึกจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท้า และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ผมชอบที่สุดและแนะนำให้คนหรือองค์กรที่อยากทำนวัตกรรมให้สำเร็จลองดูเป็นตัวอย่าง

และนี่คือนิยามของนวัตกรรมปกป้องเท้า ‘ถุงเท้าเพื่อสุขภาพที่ออกแบบพิเศษสำหรับปกป้องเท้าของผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุในราคาย่อมเยา’

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้ในการทำนวัตกรรมให้สำเร็จคือ “นวัตกรรมต้องไม่หยุดนิ่ง”

‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ ก็เช่นกัน ต้องมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ต่อยอดขยายกลุ่มผู้ใช้ ขยายกลุ่มสินค้า ขยายบริการ ไปถึงการขยายโมเดลธุรกิจ จาก ‘นวัตกรรมปกป้องเท้า’ อาจกลายเป็น ‘นวัตกรรมปกป้องสุขภาพ’ ก็เป็นไปได้ แค่นี้…นวัตกรรมธรรมดาก็จะกลายเป็นนวัตกรรมการให้…ไม่สิ้นสุด