
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Digital Belt and Road Program : DBAR) ของประเทศจีน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีแผนที่จะบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (DBAR) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่ริเริ่มมาจาก 20 ประเทศ ที่มุ่งสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคโนโลยี และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Earth Data) จากการสำรวจด้วยดาวเทียม และข้อมูลนี้จะนำมาใช้ประโยชน์การทำงานในด้านต่างๆ 7 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาเมือง ความมั่นคงทางอากาศ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกโลก นอกจากนี้ศูนย์ DBAR จะช่วยลดช่องว่างของความร่วมมือภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ให้สัมภาษณ์อีกว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ และพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความแข็งแกร่งด้านกำลังคนร่วมกัน สำหรับระยะแรกประเทศไทยให้ความสนใจใน 2 เรื่อง คือ 1.การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นจะสามารถวางแผนและเข้าใจสภาวะการเปลี่ยนแปลง และนำไปใช้ประโยชน์ในแง่ของการเตรียมการรับมือ 2.การจัดการภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง สภาวะต่างๆ ต้องเข้าใจข้อมูล Earth Data จะทำให้ง่ายต่อการพยากรณ์สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ และสิ่งที่จะเป็นรูปธรรมแรกหลังจากตั้งโครงการนี้ คือ ศูนย์วิจัยภายในประเทศ ที่มีระยะเวลาของโครงการประมาณ 10 ปี โดยจะเฝ้าติดตามผลเป็นระยะๆ

ศาสตราจารย์กั๋ว หัวตง ประธานโครงการดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และสภาชิกสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าสอดคล้องกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เมื่อมีศูนย์ฯ นี้ขึ้นมา ไทยย่อมได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี Geographic Information System ของจีน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นระบบบริการจัดการข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรมถ้าใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วย จะทำให้ประมาณการปลูกพืชผลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี เป็นต้น การที่ตั้งศูนย์ฯ นี้ร่วมกับอีก 8 ประเทศ คือ ฟินแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน โมรอคโค รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และแซมเบีย ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลที่พัฒนาร่วมกันในยุคดิจิทัล 4.0 นี้ได้เป็นอย่างดี

จากนั้นมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยมีศาสตราจารย์กั๋ว หัวตง และศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นตัวแทน พร้อมสักขีพยานที่เป็นตัวแทนจากสถานบันต่างๆ และสื่อมวลชนจำนวนมากร่วมแสดงความยินดี