พระถังซำจั๋ง กับ เจดีย์ห่านป่าใหญ่

0
756

การร่วมทริปศึกษาประเทศจีนกับ CIPG และ China Report ASEAN ในช่วง 15-20 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองซีอานเป็นครั้งที่ 5 และได้ไปสักการะ “เจดีย์ห่านป่าใหญ่” ที่วัดต้าสือเอินเป็นครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างเพราะเกิดความกระจ่างแจ้งในข้อกังขาที่ติดค้างคาใจมานานอย่างน้อยสองเรื่อง  หนึ่งคือ “พระถังซำจั๋ง” ที่คนไทยรู้จักในนวนิยายเรื่อง “ไซอิ๋ว”นั้นเป็นแค่ตัวละครในจินตนาการหรือท่านมีตัวตนจริง   อีกหนึ่งคือ “เจดีย์ห่านป่าใหญ่” ทำไมจึงมีชื่อแปลกเช่นนี้

เจดีย์ห่านป่าใหญ่ (Big Wild Goose Pagoda) ตั้งอยู่ทางใต้ของกำแพงเมืองซีอาน  สร้างโดยถังเกาจงในปีค.ศ. 652 สมัยราชวงศ์ถัง นับอายุถึงปัจจุบันกว่า 1,300 ปี  เป็นศิลปะจีนผสมอินเดีย  เดิมสร้างแค่5ชั้น ต่อมาได้รับการบูรณะสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เสริมเป็น 7 ชั้น ปัจจุบันสูง 64.7เมตร   เหตุที่สร้างเจดีย์องค์นี้ว่ากันว่าเป็นไปตามคำขอของ “พระถังซำจั๋ง” เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกที่อันเชิญมาจากชมพูทวีป  ซึ่งต่อมาได้แปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน

แล้วทำไมจึงชื่อ “ห่านป่าใหญ่” นี่ก็เล่าต่อๆกันมาอีกเหมือนกันว่า  จากจีนสู่ชมพูทวีปนั้นหนทางยากลำบากนักต้องผ่านทั้งป่าดงดิบและพื้นที่ทุรกันดาร   ช่วงหนึ่งอยู่กลางทะเลทรายเกือบจะอดน้ำตาย  พระถังซำจั๋งเห็นฝูงห่านป่าบินผ่านบนท้องฟ้า  จึงให้คณะติดตามไปในทางที่ฝูงห่านป่ามุ่งหน้าเพราะเชื่อว่าจะพบแหล่งน้ำซึ่งก็ได้พบจริงๆจนรอดตายไปถึงอินเดีย  ดังนั้นเมื่อได้สร้างเจดีย์ขึ้นจึงได้ตั้งชื่อว่า “ห่านป่าใหญ่”หรือ “ต้าเยี่ยนถ่า” เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณของห่านป่า

ส่วนพระถังซำจั๋งนั้นมีหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าเดิมท่านมีชื่อว่า “เฉินอี”  เกิดสมัยราชวงศ์สุย บิดาเป็นขุนนางระดับนายอำเภอ  มีแววใฝ่รู้ใฝ่เรียนตั้งแต่เด็ก  มารดาเสียชีวิตตอนท่านอายุเพียง 5 ขวบ  เหตุที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาเพราะพี่ชายบวชเป็นภิกษุก่อน  หลังบิดาเสียชีวิตจึงไปอาศัยอยู่ที่วัดกับพี่ชาย  ยิ่งได้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนา  อายุ13บรรพชาเป็นสามเณร อายุ18แตกฉานในพระไตรปิฎก  

ศึกษาพระพุทธศาสนาถึงอายุ 28 ท่านเกิดร้อนวิชาบังอาจเสนอฮ่องเต้ว่าควรชำระศาสนาโดยอาสาไปอันเชิญพระไตรปิฎกของแท้จากชมพูทวีป  แม้ฮ่องเต้ไม่อนุญาตแต่พระถังซำจั๋งก็ออกเดินทางไปเองในปีค.ศ.629  บุกป่าฝ่าดงและอันตรายนานัปการจนถึงอินเดียได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา  ซึ่งยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา  กลับถึงฉางอานปีค.ศ.645 รวมเวลา 16 ปี รวมระยะทางที่เดินทางไป-กลับ 58,000 กิโลเมตร

เล่ากันว่าตอนท่านกลับจากชมพูทวีปใหม่ๆนั้นฮ่องเต้อยากให้ท่านสึกมาช่วยบริหารบ้านเมืองเพราะพูดได้ถึง 13 ภาษา  แต่ท่านอุทิศชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาแล้ว  ฮ่องเต้จึงให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดต้าสือเอิน  ท่านเป็นผู้มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ท่านมรณภาพตอนอายุ 64 ปี  สหประชาชาติประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก  นี่จึงเป็นการยืนยันว่าพระถังซำจั๋งมีตัวตนจริง

นวนิยายเรื่องไซอิ๋ว หรือ “ซีโหยวจี้” การผจญภัยอันสนุกสนานพิศดาร  มีตัวละครที่โลกจดจำอย่าง พระถังซำจั๋ง เฮ่งเจีย หรือ “ซุนอู่คง”  ซัวเจ๋ง และ ตือโป๊ยก่าย  ก็เอาเค้าโครงมาจากบันทึกการเดินทาง “ต้าถังซีโหยวจี้” จดหมายเหตุการเดินทางสูดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” ที่พระถังซำจั๋งได้บันทึกประสบการณ์การเดินทางไปอินเดีย การท่องเอเชียกลาง เอเชียใต้ 110 แคว้น เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปีนั่นเอง

ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน