6 เรื่องสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือไทย-จีน หลังการหารือแบบทวิภาคีระหว่างผู้นำไทย-จีน

0
1

นอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้ร่วมหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ด้วย  

การหารือแบบทวิภาคีระหว่างผู้นำทั้งสอง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ยังเป็นการร่วมกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านซึ่งครบรอบ 10 ปี ในปีพ.ศ. 2565 และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ในปีพ.ศ. 2568 ด้วย

โดยประเด็นที่มีการหารือกัน ได้แก่

  1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

จีนให้ความสำคัญกับโครงการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทย เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว ที่จะทำให้เส้นทางรถไฟ จีน-ไทย-ลาว เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคตามโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road) ทำให้การค้า การขนส่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตยิ่งขึ้น

  1. การค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน

จีนจะร่วมกับไทยในการส่งเสริมการค้าการลงทุนผ่านความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้

  1. การเดินทางและท่องเที่ยว

ตอนนี้จีนอนุญาตให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับไปศึกษาต่อในจีนได้แล้ว ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จีนพร้อมที่จะส่งเสริมเรื่องการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง

  1. การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ

จีนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  1. การแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ

จีนพร้อมให้ความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยฉพาะความมั่นคงทางไซเบอร์ การปราปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แก้ปัญายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการหลอกลวงทางโทรศัพท์

  1. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา สาธารณสุข ขจัดความยากจน

จีนได้ให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุขหลายโครงการ และพร้อมสนับสนุนไทยในการแก้ปัญหาความยากจน โดยจีนพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จในการขจัดความยากจนในประเทศจีน

การหารือแบบทวิภาคีระหว่างผู้นำไทย-จีนในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ที่มีมาอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน และจะได้ร่วมสรรค์สร้างอนาคตในด้านต่างๆ ร่วมกันต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ขอบคุณภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน