“การทูตประมุข” นำพาความสัมพันธ์จีน-สิงคโปร์ก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่

0
2

เมื่อไม่กี่วันก่อน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้พบกับนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ณ มหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า”ระหว่างการเยือนจีนของท่านในครั้งนี้ เราได้ยกระดับความสัมพันธ์จีน-สิงคโปร์ให้เป็น“หุ้นส่วนที่มุ่งสู่อนาคตอย่างมีคุณภาพสูงรอบด้าน”(“All Round High Quality Future Oriented Partnership” ซึ่งได้กำหนดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในอนาคต”

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้แสดงความหวังว่าการเยือนครั้งนี้จะผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับจีนในด้านต่างๆ ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับไปเกือบ 33 ปีนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสิงคโปร์ ทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญ ความสัมพันธ์จีน-สิงคโปร์แสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกล การมียุทธศาสตร์ และการเป็นแบบอย่างเสมอมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศเท่านั้น หากยังได้สร้างต้นแบบให้กับประเทศในภูมิภาคอีกด้วย ปัจจุบันภายใต้การชี้นำของ“การทูตประมุข” ความสัมพันธ์จีน-สิงคโปร์ได้ยกระดับจาก “หุ้นส่วนความร่วมมือรอบด้านที่ก้าวหน้าไปตามกาลเวลา”(”All-Round Cooperative Partnership Progressing with the Times”)เป็น “หุ้นส่วนที่มุ่งสู่อนาคตอย่างมีคุณภาพสูงรอบด้าน” ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทุกด้านและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศย่อมจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยคุณภาพที่สูงยิ่งขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างจีนกับสิงคโปร์ได้ก้าวทันยุคสมัย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2013 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์เป็นเวลาเก้าปีติดต่อกัน ในขณะที่สิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเวลาเก้าปีติดต่อกัน โครงการสำคัญต่างๆระหว่างสองประเทศ เช่น สามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสองประเทศ เมืองแห่งความรู้กวางโจวจีน-สิงคโปร์(Sino-Singapore Guangzhou Knowledge City)และความร่วมมือทางด้านเมืองอัจฉริยะเซินเจิ้น-สิงคโปร์ เป็นต้น ต่างมุ่งเน้นไปที่ความคิดริเริ่มและประเด็นสําคัญ เช่น “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เศรษฐกิจและการค้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน  การสร้างนวัตกรรม การเงิน สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและบุคลากร ฯลฯ ส่งเสริมให้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศขยายและยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นิคมอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park)ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลโครงการแรกระหว่างจีนกับสิงคโปร์ จากทุ่งนาและพื้นที่ลุ่มสู่เมืองใหม่ที่ทันสมัย ​​”ทุ่งทดลอง” ความร่วมมือจีน-สิงคโปร์แห่งนี้ค่อยๆ เติบโตเป็น “ทุ่งที่ให้ผลผลิตสูง” และ “ทุ่งสาธิต” นิคมอุตสาหกรรมซูโจวในปัจจุบันได้ก่อรูปขึ้นเป็นระบบอุตสาหกรรมที่นำโดยเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่และการผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันด้วยอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น การแพทย์ชีวภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโน และปัญญาประดิษฐ์ โดยยอดมูลค่าการผลิตของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ในปี 2022 สูงถึง 351,560 ล้านหยวน

ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนากระบวนการเป็นเมืองของจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนับวันได้กลายเป็นฉันทามติทางสังคมมากขึ้น จีนและสิงคโปร์จึงได้ร่วมกันบุกเบิกพัฒนาโครงการ “เมืองนิเวศเทียนจิน”ตั้งแต่ปี 2008 โดยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดินเค็มเป็นด่างและน้ำเสียในบริเวณอ่าวโป๋ไห่ด้วยการสร้างเมืองนิเวศที่พัฒนาได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันเมืองนิเวศเทียนจินมีประชากรถาวรอาศัยอยู่แล้วมากกว่า 120,000 คน และมีผู้ประกอบการประเภทต่างๆ ในตลาดเข้าไปดำเนินธุรกิจรวม  14,000 ราย  ประสบการณ์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และการบำบัดน้ำได้รับการเผยแพร่และประยุกต์ใช้ในหลายภูมิภาคของจีน ในอนาคตเมืองนิเวศเทียนจินจะทุ่มเทในการสร้างเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำชั้นนำของจีน เพื่อมอบสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งด้านการทำงานและการดำรงชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

ปี 2015 เป็นวาระครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-สิงคโปร์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ตามคำเชิญ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์(ฉงชิ่ง)จีน-สิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลำดับที่สามระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเน้นความร่วมมือในสี่ด้านเป็นหลัก ได้แก่ บริการทางการเงิน อุตสาหกรรมการบิน การขนส่งและโลจิสติกส์ และข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2022  ภายใต้กรอบโครงการนี้ จีนกับสิงคโปร์ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว 218 โครงการ และโครงการบริการทางการเงิน 235 โครงการ รวมมูลค่า 54,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกของจีนกับประเทศอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในพิมพ์เขียวใหม่ที่ผู้นำของทั้งสองประเทศร่วมกันวาดขึ้นนั้น คุณภาพสูงจะกลายเป็น “สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของความร่วมมือจีน-สิงคโปร์” การสร้างสรรค์ช่องทางเชื่อมต่อใหม่ทั้งทางบกและทางทะเลให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น การลงลึกเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลและสีเขียว ตลอดจนความร่วมมือในตลาดของฝ่ายที่สาม เป็นต้น เหล่านี้ล้วนจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการยกระดับความร่วมมือจีน-สิงคโปร์ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นในอนาคต

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)