บทวิเคราะห์ : เหตุใดการค้าต่างประเทศของจีนจึงเติบโตต่อเนื่องขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา

0
1

บทวิเคราะห์ : เหตุใดการค้าต่างประเทศของจีนจึงเติบโตต่อเนื่องขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา

       เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซา และมีบางประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ในฐานะส่วนประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจประชาชาติ การค้าต่างประเทศของหลายประเทศประสบความท้าทายที่หนักหนาสาหัสนับตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่การค้าต่างประเทศของจีนสามารถรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ จึงเป็นที่จับตาของผู้คนทั้งหลาย

ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานศุลกากรจีนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2023  ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการค้าต่างประเทศของจีนทั้งการนำเข้าและส่งออกรวม 16.77 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  ในจำนวนนี้ ยอดการนำเข้าและส่งออกเฉพาะเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวอยู่ที่ 3.45 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 0.5%  เป็นอันว่าการนำเข้าและส่งออกรายเดือนของจีนได้บรรลุการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

นักวิเคราะห์เห็นว่า สาเหตุหลักที่การค้าต่างประเทศของจีนสามารถรักษาการเติบโตได้คือตั้งแต่ต้นปีนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนที่ทรงพลังสำหรับการเติบโตอย่างมั่นคงของการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการหลายชุดเพื่อรักษาเสถียรภาพของขนาดและการปรับโครงสร้างการค้าต่างประเทศของจีนนั้น ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการการค้าต่างประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงผลักดันการค้าต่างประเทศของจีนให้เติบโตต่อเนื่องเป็นเวลา 4  เดือนติดต่อกัน

ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายช่วยเหลือวิสาหกิจแก้ไขปัญหาความยากลำบากและการปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิสาหกิจภาคเอกชนซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงในการดำเนินงานและมีความสามารถในการปรับตัวที่เข้มแข็งเพื่อตอบสนองตลาด ได้กลายเป็นกำลังหลักในการค้าต่างประเทศของจีน ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้  จีนมีวิสาหกิจเอกชน 439,000 รายที่ได้สร้างผลงานการนำเข้าและส่งออก  เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีการนำเข้าและส่งออกรวม 8.86 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13.1% ปัจจุบัน สัดส่วนของวิสาหกิจภาคเอกชนในการนำเข้าและส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 52.8% ซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเติบโตอย่างมั่นคงของการค้าต่างประเทศ

เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเฟอร์นิเจอร์เคยได้ชื่อว่าเป็น “สามเจ้าเก่า” ในการส่งออกสินค้าของจีน ทุกวันนี้ ในขณะที่อุตสาหกรรม “สามเจ้าเก่า” กำลังยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถยนต์โดยสารพลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “สามเจ้าใหม่” ในการค้าต่างประเทศของจีนนั้นได้สร้างผลงานที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ด้วยแรงส่งจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกผลิตภัณฑ์ “สามเจ้าใหม่” ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็น 57.9% ของยอดการส่งออก ซึ่งผลักดันการส่งออกในภาพรวมของจีนให้เติบโตขึ้น 2%

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้อัดฉีดแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาค ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ การนำเข้าและส่งออกของจีนกับประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของการค้าต่างประเทศของจีน โดยอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน การนำเข้าและส่งออกของจีนกับประเทศรายทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพิ่มขึ้น 13.2% โดยในจำนวนนี้การนำเข้าและส่งออกของจีนกับ  5 ประเทศในเอเชียกลางเพิ่มขึ้นถึง 44%

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้อุปสงค์ภายนอกโดยรวมอ่อนแอ ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการค้าต่างประเทศของจีน ความท้าทายต่างๆ เช่น การเติบโตของการส่งออกที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ การเติบโตของการค้าต่างประเทศที่ชะลอตัวในแต่ละเดือน ตลอดจนการนำเข้าและส่งออกกับประเทศคู่ค้าดั้งเดิม เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในภาวะขาลง ได้กลายเป็นสถานการณ์ใหม่ที่การค้าต่างประเทศของจีนต้องเผชิญ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของเศรษฐกิจจีนซึ่งรวมถึงการนำเข้าและส่งออกด้วยนั้นยังคงแข็งแกร่ง หากมองในระยะยาว การพัฒนาการค้าต่างประเทศของจีนจะยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งและมีศักยภาพสูงไว้ได้

เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)