ขุมพลังใหม่ผงาด ‘เทคโนฯ – อุตฯ – การบริโภคใหม่’ กระตุ้น ‘เศรษฐกิจจีน’ ตลอดปี 2023

0
12
(ผู้เข้าชมงานเล่นกับหุ่นยนต์สุนัขรูปหกเหลี่ยมที่พื้นที่นิทรรศการอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเทคโนโลยีสารสนเทศของงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 6 ณ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน วันที่ 7 พ.ย. 2023)

ปักกิ่ง, 16 ม.ค. (ซินหัว) — การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมใหม่ และการขยายตัวของการบริโภครูปแบบใหม่ ได้กระตุ้นให้เกิด “พลังใหม่” สำหรับเศรษฐกิจจีนในปี 2023 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการพัฒนาระดับสูงในจีน

ปี 2023 คลื่นลูกใหม่แห่งการพัฒนาที่แผ่ขยายไปทั่วอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลก นำโดยระบบปัญญาประดิษฐ์สากล เช่น แชตจีทีพี (ChatGPT) ส่วนตลาดจีนสำหรับระบบเอไอขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

ขณะนี้ ระบบเอไอในประเทศกำลังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเร่งการพัฒนายาใหม่และการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ไปจนถึงการลดรอบการส่งมอบผลิตภัณฑ์ในโรงงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพของสำนักงาน

ตั้งแต่ปี 2023 “สามใหม่” ของจีน ได้แก่ ยานยนต์พลังงานใหม่ เซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยข้อมูลของศุลกากรเปิดเผยว่าช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ยอดส่งออกรวมของผลิตภัณฑ์ “3 ใหม่” เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยยังคงอัตราการเติบโตระดับเลขสองหลักเป็นเวลา 14 ไตรมาสติดต่อกัน

จาก “สามเก่า” ซึ่งได้แก่ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน สู่ “สามใหม่” ในปัจจุบันนั้น วิวัฒนาการของโครงสร้างการค้าสินค้าโภคภัณฑ์สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จอันน่าทึ่งในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการค้าต่างประเทศของจีน ซึ่งตอกย้ำถึงความได้เปรียบด้านการผลิตของจีน และเป็นภาพสะท้อนถึงแรงกระตุ้นใหม่ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่นเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) จีนได้สร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนและระบบห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก ทั้งยังมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นนำในระดับโลก โดยมีกำลังการผลิตในภาคการผลิตหลักๆ มากกว่าร้อยละ 80 ของส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก

ด้วยอิทธิพลของการสื่อสารออนไลน์ ธุรกิจจำนวนมากกำลังหวนกลับมายึดถือแก่นแท้ของวัฒนธรรมดั้งเดิม มีแบรนด์ที่ได้รับการยกย่องมาอย่างยาวนานหลายแบรนด์ที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันทั้งในด้านมรดกและนวัตกรรม ขณะที่ความร่วมมือระหว่างแบรนด์จนเกิดสินค้า เช่น “ลาเต้รสเหล้า” ที่เติมแอลกอฮอล์และช็อกโกแลตผสมเหล้านั้น ได้พลิกโฉมผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมในประเทศให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่ผู้บริโภค

ปี 2024 ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยจีนจะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่อย่างจริงจัง ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเร่งผลักดันความก้าวหน้าของเอไอ ส่วนการบริโภครูปแบบใหม่จะได้รับส่งเสริมและผลักดันให้แข็งแกร่ง ขณะที่การบริโภคแบบดิจิทัล การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบริโภคเพื่อสุขภาพก็จะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่เช่นกัน

(เรียบเรียงโดย Gao Jingyan, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/411909_20240117 , https://en.imsilkroad.com/p/338089.html)