ปากว้าจ่าง : แปดท่าแปรเปลี่ยน วิชาเซียนอายุวัฒนะ

0
1333

อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้ชำนาญการสายงานกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  และ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย)

[email protected]

———————————————————————————————

ในวิชามวยภายใน(内家拳 – เน่ยเจียเฉวียน)ทั้งหลายนั้น ปากว้าจ่าง เป็นมวยที่มีประวัติศาสตร์ของมวยเกิดขึ้นทีหลังสุด คือประมาณช่วงปลายราชวงศ์ชิง แม้ว่าจะมีมวยที่มีลักษณะคล้ายกันที่เรียกว่า อินหยางปาผานจ่าง (阴阳八盘掌) จนบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของปากว้าจ่าง  แต่ก็ยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่นิยมเฉกเช่นปากว้าจ่างแต่อย่างใด

ปากว้าจ่าง มีตำนานว่าเกิดจาก ปรมาจารย์ตงไห่ชวน(董海川)ที่มีพื้นฐานวิทยายุทธจากมวยเส้าหลิน จนต่อมามีโอกาสพบนักพรตบนเขามาแนะนำวิชาที่ใช้หลักการปากว้าเข้ามาประยุกต์ ซึ่งตำนานนักพรตนี้ มีนักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันตั้งข้อสงสัยมากต่อมากว่าเป็นการแต่งเติมเพื่อสร้างความลึกลับให้กับวิชาหรือไม่ แต่ไม่ว่ามวยนี้จะมีที่มาที่ไปเช่นไรก็ตาม ก็ยังเป็นมวยที่น่าสนใจอยู่ดี เพราะสามารถสร้างชื่อเสียงจนเทียบเคียงวิชาของสำนักใหญ่ในอดีตอย่าง ไท่จี๋เฉวียน(มวยไท้เก็ก) และมวยสิ่งอี้ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

ลักษณะเด่นที่ปรากฎชัดของปากว้าจ่างคือ การเดินเป็นวงกลม โดยบิดร่างกายท่อนบนหันเข้าหาแกนกลางของวงกลม การเดินของปากว้าจ่างนี้เป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อยว่ามีเพื่ออะไร จากเดิมที่เชื่อกันว่าเป็นการฝึกฟุตเวิร์ค แต่ในความเป็นจริงหากเราได้ลองใช้การเดินแบบนี้ในเชิงฟุตเวิร์คดูบ้าง อาจพบว่าไม่ได้มีผลเป็นที่ประจักษ์แต่อย่างใด แต่หากเราปรับมุมมองเป็นว่าการฝึกเดินนี้เป็นการพัฒนาการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวของเอวและขาอาจดูใกล้เคียงกว่า แต่สิ่งที่มากขึ้นกว่านั้นคือ แรงจากศูนย์กลางลำตัว ที่เป็นแรงสำคัญสำหรับผู้ฝึกวิทยายุทธก็สามารถพัฒนาได้จากการฝึกนี้เช่นกัน

นอกจากการเดินเป็นวงกลมแล้ว ปากว้าจ่างยังมีการใช้การบิดหมุนไปทั่วทั้งร่างกายอีกด้วย การบิดหมุนของปากว้าจ่างนี้นี่เองที่หากฝึกถูกต้อง จะเป็นการรักษาสุขภาพทั้งในเชิงความอ่อนหยุ่นและความแข็งแกร่ง ให้กับร่างกายทั่วทั้งตัว ทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อวัยวะภายใน แต่น่าเสียดายว่า การบิดหมุนร่างกายไปทั่วร่างกายนี้ ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีผู้ให้ความสำคัญแล้ว ยังคงเหลือหลักนี้ในบางสายเท่านั้น

อาจารย์ของผู้เขียนกล่าวว่า ปากว้าจ่าง เป็นหลักการ ไม่ใช่ท่าทาง หากนำหลักนี้ไปใช้กับมวยอะไรล้วนช่วยให้มวยนั้นมีพลานุภาพมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ท่าเย่ตี่ฉางฮวา(叶底藏花 – ใต้ใบซ่อนดอก) ไปจนถึงท่าเทียนหม่าสิงคง(天马行空 – อาชาสวรรค์ทะยานนภา) ของปากว้าจ่างนั้น หากนำแรงที่ฝึกได้ไปใส่ในมวยใดก็ตาม แรงที่ออกนั้นก็จะมีแง่มุมที่โค้งเป็นวงและมีมิติมากขึ้นกว่าเดิม ความโค้งนี้เองที่ช่วยให้คู่ต่อสู้เสียหลักได้โดยง่าย และความโค้งก็เช่นกันก็ทำให้ผู้ฝึกสามารถออกแรงน้อยให้ได้ผลสูงกว่าเดิมได้

ภาพที่ 1-3 ท่าเย่ตี่ฉางฮวา เทียนหม่าสิงคง ที่ปรากฎบ่อยในมวยปากว้าจ่าง

 

ภาพที่ 4-5 การประยุกต์ใช้ปากว้าจ่างในการต่อสู้