ในประวัติศาสตร์มีนิยาย และนิยายบางเรื่องก็ดันกลายเป็นประวัติศาสตร์ซะงั้น (1)

0
490
สมชาย แซ่จิว - ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนๆ

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของจีนที่มีมาอย่างยาวนั้นเต็มไปด้วยสีสันและความน่าสนใจอย่างมาก จนสามารถร้อยเรียงเป็นหนังสือเล่มหนา ซึ่งหาได้คณนาผู้อ่านเพราะล้วนหลงใหลติดหนึบแบบวางไม่ลง แต่ก็มีบางเรื่องที่เราหลงเชื่อ คิดว่าเป็นเรื่องจริง แถมมีชื่อเสียงโด่งดัง คนรู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง เป็นประวัติศาสตร์เนรมิตที่เพิ่งแต่งเติมเพิ่มขึ้นมาไม่นาน

อาศรมสยาม-จีนวิทยาได้เชิญคุณสมชาย แซ่จิว ครีเอทีฟโฆษณามือต้นๆ ของประเทศและยังเป็นนักเขียนนักเล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับจีนมาบรรยายในหัวข้อ “เกร็ดเรื่องจีนที่คุณไม่เคยรู้” ด้วยลีลาการเล่าที่ได้อรรถรสรวมถึงเรื่องราวที่เล่านั้นก็น่าสนใจ ทำให้จำนวนผู้เข้าฟังเต็มห้องบรรยาย ทีมงานซีอาร์ไอมีโอกาสได้ไปร่วมงานนี้และเก็บ “เกร็ดเรื่องจีนที่คุณไม่เคยรู้” มาแบ่งปัน ลองมาดูกันสิว่ามีเรื่องไหน (ที่คุณเชื่อหมดใจ) เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างกันบ้าง

สามก๊กตอนสามพี่น้องสาบานในสวนท้อต้นกำเนิดมาจากงิ้ว

ชาวไทยรู้จักสามก๊กกันอย่างดี มีหลายตอนที่เป็นไฮไลท์ อย่างเช่น ตอนสามพี่น้องสาบานในสวนท้อ ที่ผู้คนมักจดจำประโยคคลาสสิกที่ว่า “แม้ไม่ได้เกิดวันเดียวปีเดียวกัน แต่ขอตายวันเดียวปีเดียวกัน” ประโยคนี้ถูกนำมาใช้แพร่หลาย เช่น หลินฉี่เชา-นักเขียนดัง ยังเคยอ้างถึงเรื่องสาบานในสวนท้อในบทความของเขา หรือพวกอั้งยี่เวลาสาบานกันต้องมีกิ่งท้อ ซึ่งก็มาจากสวนท้อที่เป็นฉากของตอนสามพี่น้องสาบานกันในเรื่องสามก๊ก เรื่องราวที่ว่านี้หากย้อนไปค้นประวัติศาสตร์จีนจะ “หาไม่เจอ”

ยุคสมัยคังซีมีการขุดค้นสุสานกวนอู และพบวันเดือนปีเกิดของกวนอูสลักไว้ที่สุสาน หากนำอายุของสามคนนี้มาเรียงกัน กลายเป็นกวนอูอายุมากสุด ก็คือแก่กว่าเล่าปี่เสียอีก นั่นหมายความว่าถ้าเกิดมีการสาบานในสวนท้อจริงๆ เล่าปี่ก็ต้องเป็นพี่กลางไม่ใช่พี่ใหญ่อย่างที่เราเข้าใจ แต่นักเขียนนิยายจะเล่าแบบนี้ไม่ได้ เพราะเล่าปี่เป็นแม่ทัพ ตำแหน่งใหญ่สุด

เรื่องนี้ทำให้ผู้คนเคลือบแคลงสงสัยจึงสืบค้นและพบว่าเรื่องราวตอนนี้มันมาจาก “งิ้ว” หรือ “อุปรากรของจีน” คาดว่างิ้วตอนนี้น่าจะเป็นที่นิยมมาก “หลอก้วนจง” ผู้แต่งนิยายสามก๊ก จึงนำตอนนี้มาใส่เพราะมันน่าประทับใจ

ฉากจากเรื่องสามก๊กตอนสามพี่น้องสาบานกันที่สวนท้อ

“จ๋าเตา” เครื่องประหารในหนังเปาบุ้นจิ้น แต่ไม่มีในสมัยท่านเปายังมีชีวิตอยู่

“เปิดมีด…ประหาร!” แฟนๆ หนังเปาบุ้นจิ้น ขุนนางตงฉินผู้ผดุงความยุติธรรมคงคุ้นเคยกันดี เวลาเปาบุ้นจิ้นตัดสินคดีแล้วมีโทษประหาร จะใช้เครื่องประหาร 3 แบบ คือ หัวมังกร หัวพยัคฆ์ และหัวสุนัข เครื่องประหารแบบนี้จะคล้ายๆ กับกิโยตินคือการจับนักโทษให้คอวางบนแท่นเครื่องประหาร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะปล่อยมีดขนาดใหญ่ลงมาสับคอ เครื่องประหารแบบนี้ในภาษาจีนจะเรียกว่า “จ๋าเตา”

ถ้าคนพอทราบเรื่องประวัติศาสตร์ก็จะคุ้นว่าท่านเปาเป็นขุนนางในสมัยราชวงศ์เป่ยซ่ง ส่วนเรื่องที่ขัดแย้งกับความคุ้นเคยของแฟนๆ หนังท่านเปาก็มีอยู่ว่า เครื่องประหารจ๋าเตานี้ไม่มีปรากฏในสมัยนั้นเลย!

กฎหมายของซ่งมีหลายแบบ ตั้งแต่เฆี่ยนตีไปจนหนักสุดคือประหาร วิธีประหารนักโทษก็มีแขวนคอ ตัดหัว (แบบเข้าเสาหลักแล้วมีเพชฌฆาตฟันคอ) และการแล่เนื้อเถือหนังทั้งเป็น มีเรื่องเล่าว่าเวลาประหารด้วยการแล่เนื้อ จะมีชาวบ้านมารุมดู ส่วนเนื้อที่แล่ออกมา จะมีคนไปขอซื้อกินกับเหล้า บอกว่าอร่อย…บรื๋ย!

นอกเหนือจากนี้อาจจะมีวิธีประหารที่ซุปเปอร์โหดหรือพิสดารกว่านี้ก็มีบันทึกไว้บ้าง เช่น การตอกร่างนักโทษไว้แล้วเฉือนอวัยวะนู่นนี่ ตอกเข่า สุดท้ายค่อยตัดหัว เรียกได้ว่าโคตรทรมาน และบางทีก็ใช้เวลาหลายวันกว่าจะตาย
คุณสมชายจิวเล่าว่าแท้จริงแล้ว “จ๋าเตา” เป็นเครื่องมือของชาวมองโกล

ชาวมองโกลอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าจะใช้จ๋าเตาตัดฟ่อนหญ้าแห้งให้ม้ากิน พอเริ่มราชวงศ์หยวนที่ชาวมองโกลปกครองก็ทำให้วัฒนธรรมในการใช้ “จ๋าเตา” แพร่หลายมากขึ้น ชาวฮั่นก็เลยรู้จักและเริ่มใช้เครื่องมือชนิดนี้ ประกอบกับสมัยหยวนนี้การแสดงงิ้วเฟื่องฟู ทำให้งิ้วเขียนบทให้มีการใช้จ๋าเตาในการประหารเพื่อความสนุกและได้อรรถรสในการชม
และก็เป็น “งิ้ว” นี่เองที่นำมาใช้ ทำให้คนรุ่นหลังจำและเชื่อกันมาเรื่อยๆ เชื่อแค่ไหนนั้นคนที่เคยไปเยี่ยมชมศาลไคฟงของจริงที่เมืองจีนก็ยังมีการจำลองเครื่องประหารนี้ไว้ให้จัดแสดง แฟนๆ หนังท่านเปาคงต้องก่านเซี่ยะ-กำเสี่ย-ขอบคุณคุณูปการของงิ้วที่ทำให้คดีของท่านเปาสนุกขึ้น เร้าใจขึ้น ด้วยเครื่องประหารหัวสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้

รูปเคารพท่านเปาและ “จ๋าเตา” – เครื่องประหารในศาลไคฟง

ท่านเปาตัวจริงหน้าใสและไม่มีพระจันทร์บนหน้าผาก?

ถ้าให้เราบรรยายลักษณะของเปาบุ้นจิ้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องบอกว่าท่านเปาต้องหน้าดำและมีแผลเป็นรูปจันทร์เสี้ยวที่หน้าผาก ไม่ว่าจะในงิ้วในหนังก็แต่งออกมาแบบนี้ทั้งนั้น แล้วเรารู้ไหมว่าตัวจริงของท่านเปานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร อืม…สมัยนั้นก็ไม่มีกล้องถ่ายรูปซะด้วยสิ

ย้อนอดีตไป พบว่าคนในประวัติศาสตร์จีนที่เคยพบท่านเปาตัวจริงเสียงจริงอย่าง “จาง เสียหมิง” ระบุว่าระหว่างทางที่เขาเดินทางไปรับตำแหน่งผู้พิพากษาที่เมืองแถวศาลท่านเปา เขาได้แวะคารวะท่านเปา – ขุนนางรุ่นพี่ชื่อดัง เขาพบว่าท่านเปานั้นหน้าไม่ได้ดำแถมยังใจดีอีกด้วย เลยมีการวิเคราะห์ว่าการที่ท่านเปาหน้าดำนั้นคงได้รับอิทธิพลมาจาก “งิ้ว” อีกแล้ว ด้วยงิ้วเรื่อง “เปาบุ้นจิ้น” นี้เป็นที่นิยมมาก ถ้าท่านเปาหน้าจืดๆ คงไม่น่าเกรงขามเท่าไหร่ งิ้วจึงวาดให้ท่านเปาหน้าดำเพื่อจะได้ดูดุดันสู้กับขุนนางกังฉินได้

มาว่ากันเรื่องแผลเป็นรูปจันทร์เสี้ยวบนหน้าผาก อย่างที่บอกมาก่อนหน้านี้ว่าท่านเปาตัวจริงหน้าใสปิ๊ง เพราะฉะนั้นแผลจันทร์เสี้ยวนี้ก็หนีไม่พ้นว่าเป็นตำนานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ตัวละครน่าสนใจขึ้น

บางคนบอกว่าท่านเปาทำงานควบสองกะ กลางวันตัดสินคน กลางคืนตัดสินผี แผลเป็นรูปจันทร์เสี้ยวนี่แหละที่ทำให้ลงไปที่นรกได้
บางคนเล่าว่าตอนท่านเปาเกิดหน้าตาน่าเกลียดเลยโดนเอาไปโยนทิ้งน้ำ ใบหน้าไปโดนกอบัวเกี่ยวเลยเป็นแผล

บางคนก็บอกว่าถ้าออกแบบให้ท่านเปาหน้าดำแล้วบนหน้าผากมีจันทร์สว่างไสว จะเปรียบได้เหมือนเปาบุ้นจิ้นเกิดมาเพื่อขจัดความไม่ดีไม่งามในสังคม

เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลอะไร เรื่องเล่าเหล่านี้ก็ทำให้ตัวละครในประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวาและเราๆ เหล่าคนอ่านคนดูก็มีความสุขสนุกสนานตามไปด้วย

อ่อ…ส่วนความจริงก็ “งิ้ว” อีกนั่นแหละ และก็เพิ่งเกิดขึ้นยุคชิงนี่เอง เพราะคนจีนยุคนั้นไว้ผมเปีย และโกนหัว หน้าผากเลยกว้าง พอแต่งหน้าเล่นงิ้วแล้วไม่สวย มีพื้นที่เยอะ ก็เลยวาดอะไรเติมลงไปเพื่อให้สวยขึ้น และเพิ่มเรื่องราวให้ตัวละครนั้นๆ ด้วย…ท่านเปาเลยมีพระจันทร์เสี้ยวบนหน้าผากด้วยเหตุผลเช่นนี้แล

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: ณจักร วงษ์ยิ้ม