กูรูวงการไอทีเผย 10 แนวโน้มเทรนด์ไอที ปี 60

0
513

นายจาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยตลาดไคลเอนต์ ดีไวซ์ และหัวหน้านักวิเคราะห์ ไอดีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงทุนด้านไอทีของประเทศไทยในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2559 ยังมีการเติบโตราว 3.9% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 จะมีการเติบโตอีกราว 3.7% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 415,000 ล้านบาท เนื่องจากองค์กรและภาคธุรกิจมีการปรับตัวให้สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลและไทยแลนด์ 4.0 จึงทำให้เกิดการลงทุนด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง

นายจาริตร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไอดีซี มองว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ เรื่องของ Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ซึ่งจะสอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลต่อการเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0

“นับจากนี้เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้แนวโน้มการลงทุนทางด้านไอทีนับจากนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ไทยมีการใช้เงินลงทุนไอทีไปกว่า 4 แสนล้านบาท และภายในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนหลักยังคงอยู่ในกลุ่มของดีไวซ์เป็นหลัก รองลงมา คือ ไอทีเซอร์วิสอย่างคลาวด์”

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์และการลงทุนด้านไอที ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทางไอดีซี ประเทศไทย คาดการณ์ไว้ว่า จะมี 10 รูปแบบ ประกอบด้วย

CHINA-GUANGDONG-SHENZHEN-HI-TECH FAIR (CN)

1.รุ่งอรุณแห่งเศรษฐกิจในยุคดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น (Dawn of the DX Economy) ที่ทางไอดีซี คาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 จำนวน 30% ของ 500 ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทย จะให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ใช้งานที่มีดิจิตอลเป็นส่วนประกอบ

2.รายได้เชิงดิจิตอล (Digital Revenue) โดยภายในปี 2019 จำนวน 25% ของโครงการทางด้านไอที จะสร้างบริการ และรายได้จากดิจิตอล ด้วยการเปลี่ยนแปลงข้อมูล (Data) ให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องมีการลงทุนในการบริหารจัดการข้อมูลมากขึ้น

CHINA-SHENZHEN-HI-TECH FAIR-VR (CN)

3.การสนับสนุนด้วยดิจิตอล (Digital Support) ภายในปี 2018 จำนวน 60% ของการบริการลูกค้าหลังการขายจะเกิดขึ้นในรูปแบบดิจิตอล เนื่องมาจากปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ ในการติตต่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอยู่แล้ว จึงถือเป็นการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า

4.อินเตอร์เฟสแบบ 360 องศาจะได้รับความสนใจมากขึ้น (Immersive Interfaces Gaining Traction) หรือการนำเทคโนโลยี AR/VR จะถูกนำมาใช้งานใน 30% ของบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ และบริการให้แก่ลูกค้าโดยตรง เนื่องจากรูปแบบการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันจะเริ่มได้รับความนิยมลดลง เพราะไม่สร้างให้เกิดความน่าสนใจในตัวสินค้า

5.การเติบโตของอุตสาหกรรม IoT (Industry Growth) ในปี 2017 การมาของรถยนต์อัจฉริยะ ประกันภัยเทเลเมติกส์ เทคโนโลยีสุขภาพส่วนบุคคล และอาคารอัจฉริยะ จะเป็น 4 ส่วนที่มีการลงุทน IoT ถึง 7 พันล้านบาท โดยสัดส่วนใหญ่สุดจะมาจากรถยนตร์อัจฉริยะที่มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรม

CHINA-SHANGHAI-AUTOMATIC DRIVERLESS SUPER TRUCK (CN)

6.รถยนต์อัจฉริยะ (Connected Vehicle) ไอดีซี คาดการณ์ว่า ในปี 2019 รถยนต์ที่จำหน่ายกว่า 25% จะมาพร้อมกับความอัจฉริยะในการติดต่อสื่อสารในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการรายงานสภาพรถยนต์ให้ผู้ขับขี่ทราบ และการเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้เพื่อส่งต่อให้แก่ค่ายรถยนต์ในการนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต

7.การปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย (Patient Engagement) ในปี 2017 โรงพยาบาลจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการในการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับคนไข้เพิ่มเติมด้วย

CHINA-SHENZHEN-HI-TECH FAIR (CN)

8.กลยุทธ์มัลติคลาวด์ (Multi-cloud) ไอดีซี มองว่า ในปี 2020 กว่า 55% ของฝ่ายไอทีในองค์กรจะมีการนำระบบคลาวด์จากหลายผู้ให้บริการมาใช้งานร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้ เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเรียนรู้การใช้งานคลาวด์มาแล้ว และมีข้อมูลที่ทำให้สามารถตัดสินใจเลือกใช้งานได้

9.การยกเครื่องเพย์ทีวี (Pay TV Overhaul) จากรูปแบบการให้บริการเพย์ทีวีในปัจจุบันที่ตลาดค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากมีช่องทางในการรับชมมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการยกเครื่องการให้บริการเพย์ทีวี มาให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2018 จะเห็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคอนเทนต์เข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น

CHINA-SHENZHEN-HI-TECH FAIR (CN)

10.คอกนิทีฟไซเบอร์ ซิเคียวริตี (Cognitive Cybersecurity) ไอดีซี เชื่อว่า ในปี 2019 กว่า 30% ของระบบการป้องกันภัยคุกคามขององค์กรในประเทศไทยจะมีการนำระบบคอกนิทีฟ หรือระบบที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงมาช่วยในการตรวจจับภัยคุกคามยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะภัยคุกคามจะมีความหลากหลายมากขึ้นเกินกว่าที่มนุษย์จะป้องกันได้

ที่มา : www.thairath.co.th, www.manager.co.th