เด็กเจน Z กับพฤติกรรมการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

0
2130
เด็กเจน Z กับพฤติกรรมการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน“Flagship for Innovative Wisdom” หัวข้อ “อนาคตและทิศทางการศึกษาด้านธุรกิจ” เนื่องในโอกาสครบรอบ100 ปี จุฬาฯ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในส่วนสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการนำพาประเทศ จึงต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความรู้และตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ซึ่งการจัดการศึกษาจะต้องเป็นแบบ Co-Creation คือภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาต้องเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการศึกษา สร้างบัณฑิตให้มีทักษะความรู้ รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เด็กเจน Z กับพฤติกรรมการเรียนรู้ยุคดิจิทัล

“ที่ผ่านมาคณะบัญชี จุฬาฯ ได้จับมือกับภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนในหลายเรื่องให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักศึกษาเจเนอเรชั่น Z  เช่น โครงการ Mentoring จัดให้รุ่นพี่เข้ามาแนะนำนักศึกษารุ่นน้อง ทั้งเรื่องการงาน และการใช้ชีวิตโครงการ E-learning หลักสูตรการศึกษาออนไลน์ เพื่อเปิดกว้างการเรียนรู้สู่คนทุกระดับ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาคเอกชนหลายหน่วยงานจัดให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์จริง ในการทำงานภายในองค์กรธุรกิจตลอด4ปี ซึ่งทำให้เด็กสามารถนำเอาความรู้จากประสบการณ์จริงมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง” รศ.ดร.พสุ กล่าว

ด้านนายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันขององค์กรธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คู่แข่งธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับเครื่องมือใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสร้างขึ้นมา เช่น แอพพลิเคชั่นทางการเงินบนมือถือ ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้ความต้องการบุคลากรขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนไป เด็กเจเนอเรชั่น Z มีโอกาสและช่องทางการเรียนรู้อยู่รอบตัว ขณะที่บริบทสังคมในยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์ความรู้ในห้องเรียนจึงอาจไม่สำคัญเท่ากับการฝึกฝนให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสามารถนำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์กับการใช้ชีวิต และการทำงาน  โดยเฉพาะทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นเด็กจำเป็นจะต้องที่มีความโดดเด่น 3 เรื่องที่เรียกว่า ASK คือ

  1. Attitude เด็กที่มีทัศนคติที่ดี จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมงาน และถ้ามีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
  2. Skill มีทั้งหมด 10 ทักษะสำคัญที่เด็กต้องมี อาทิ สามารถคิดนอกกรอบ ทำงานได้หลากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นต้น และ

และ 3. Knowledge  ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีความเหมาะสมต่อการนำมาใช้งานกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง.

ส่วนนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอใหญ่แห่งโออิชิ กรุ๊ป กล่าวในทำนองเดียวว่า คนเจเนอเรชั่น Z จะคุ้นเคยกับพฤติกรรมการหาข้อมูลความรู้จากอินเทอร์เน็ต จึงทำให้การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องปรับรูปแบบใหม่ สถาบันการศึกษาต้องปรับบทบาทจากแหล่งองค์ความรู้ เป็นองค์กรสนับสนุนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้นำองค์ความรู้มาฝึกฝนใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันการเรียนการสอนต้องปรับรูปแบบเป็นการโค้ชชิ่ง โดยการฝึกฝนให้เด็กมีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านที่มีความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการแบ่งปัน ใครมีความรู้อะไรก็เอามาแชร์กันบนโลกออนไลน์ ทำให้ได้สังคมเพื่อนที่มีมุมมองความคิดไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมให้ความช่วยเหลือกัน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการทำงานยุคสมัยนี้

ที่มา : www.dailynews.co.th