“เกม VR” กับการตรวจหาโรคอัลไซเมอร์

0
217

เกม VR “ซีฮีโร่เควส” (Sea Hero Quest) เป็นมากกว่าเกมคอมพิวเตอร์ทั่วไป นอกจากให้ผู้เล่นหาทางออกจากเขาวงกตและไล่ยิงสัตว์ประหลาด ยังเป็นเกมที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เป็นเครื่องมืองวิจัยโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

เกมดังกล่าวจะกระตุ้นสมองของผู้เล่นผ่านการปฏิบัติภารกิจซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานประสิทธิภาพของความทรงจำและการวางเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูลผู้เล่นเพื่อวิจัยภาวะสมองเสื่อมไปด้วย

เกมซีฮีโร่เควสรูปแบบเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) เปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่ 29 ส.ค. นี้เป็นต้นไป โดยได้ชื่อว่าเป็น “การศึกษาภาวะสมองเสื่อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” เป็นฝีมือพัฒนาเกมของบริษัทดอยช์เทเลคอม (Deutsche Telekom), ศูนย์วิจัยอัลไซเมอร์สหราชอาณาจักร (Alzheimer’s Research UK), นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia)

ทั้งนี้ เกมนี้ปล่อยออกมาในรูปแบบเกมโทรศัพท์มือถือเมื่อปี 2016 มียอดดาวน์โหลด 3 พันล้านครั้งใน 193 ประเทศ

เว็บไซต์ของเกมระบุว่า การเล่นเกมเพียง 2 นาทีจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลที่ต้องใช้เวลาวิจัยถึง 5 ชั่วโมง

“เกมนี้ให้ข้อมูลมหาศาลแก่เรา และทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาว่าเพศหญิงกับเพศชายในหลากหลายช่วงอายุมีการนำทางที่แตกต่างกันอย่างไรในเกม” เดวิด เรย์โนลด์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยอัลไซเมอร์สหราชอาณาจักรกล่าว

การไขปริศนาในภารกิจต้องใช้ “สมองหลายส่วนและสมองแต่ละส่วนก็ใช้ในวิธีที่แตกต่างกันโดยภาวะสมองเสื่อมที่ต่างกัน ดังนั้นเกมนี้จึงทำให้เราเชื่อมโยงการกระทำของคนคนหนึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของเขาได้” เรย์โนลด์เสริม

แม้โรคอัลไซเมอร์ไม่มีวิธีรักษา แต่ผู้สร้างเกมก็หวังว่าเกมนี้จะสามารถทำให้ค้นพบอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้รวดเร็วกว่าที่เคยเป็น