เจาะลึกยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ผลักดันไทยใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาค เชื่อมโยงจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาการค้าต่างประเทศ ซีรี่ส์ 3 “ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt, One Road” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนากรมการค้าต่างประเทศ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนอย่างนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย–จีน มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดจีนถึงที่มาที่ไปของนโยบายดังกล่าว และโอกาสที่ไทยจะได้รับจากนโยบายนี้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนท่านอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน

นายยอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบาย One Belt, One Road ของจีน กรมการค้าต่างประเทศมองว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเล โดยทางทะเลไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ทางบกไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงจีนกับประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางถนนและรถไฟ

นางสาววิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า หัวข้อในการสัมมนาในวันนี้เป็นเรื่องที่หลายๆ ประเทศจับตามอง ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน One Belt, One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งทางเส้นเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนโดยผู้นำสีจิ้นผิง ได้นำเสนอภายใต้สโลแกนที่เรียกว่า China Dream ให้มาขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกต่างๆ ในเวทีโลก โดยเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ One Belt, One Road ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ด้วยยุทธศาสตร์นี้จะเชื่อมโยง 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เชื่อมโยงทางทิศเหนือ และทิศใต้ของเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และทวีปยุโรปเข้าด้วยกัน ส่วนที่สองคือ เส้นทางสายไหมทางทะเล ศตวรรษที่21 (The 21st Century Maritime Silk Road) เชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และแอฟริกาเหนือ
นอกจากนี้จีนยังมีเครื่องมือที่สำคัญนั่นคือธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank – AIIB) ที่จีนต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เอไอไอบีจึงเป็นแหล่งลงทุนหรือเป็นทางเลือกของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ต้องการเงินทุนเพื่อไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในการที่จะเชื่อมโยงกับเส้นทางของจีนทั้งทางบกและทางน้ำ
ในส่วนของประเทศไทยนั้นจะได้ประโยชน์เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า การลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในเส้นทางสายใหม่ทางทะเลที่จีนให้ความสำคัญ ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยผลักดันคือการเชื่อมโยง One Belt, One Road กับเขตเศรษฐกิจพิเศษแหลมฉบังด้านตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทยกับประเทศจีนได้

นอกจากนี้มีการอภิปรายประเด็น “เจาะลึกนโยบายจีน” The Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร เลขาธิการสภาธุรกิจไทย–จีน , นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และรศ.ดร.อักษรศรี พาณิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายในหัวข้อนี้ด้วย

ช่วงบ่ายของวันเดียวกันมีการเสวนาหัวข้อ “นโยบาย OBOR เส้นทางการค้าจีนไทยได้หรือเสีย” มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมอภิปราย อาทิ ดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และที่ปรึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ , อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน , ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) และ ศ.ดร. Tang Zhimin คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน–จีนศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมเสวนาในเรื่องนี้
รายงาน: ยุพินวดี คุ้มกลัด