ภูมิหลังพระเจ้าตาก
ภูมิหลังของพระเจ้าตากถูกกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือภาษาไทยเรื่อง “อภินิหารบรรพบุรุษ” หรือภาษาอังกฤษโดยนักประวัติศาสตร์นามสกินเนอร์ (William G Skinner) หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษระบุว่าบิดาของพระเจ้าตากเป็นจีนไหฮอง (ไห่เฟิง – ภาษาจีนกลาง) ส่วน สกินเนอร์ระบุไว้ว่าเป็นจีนเฉ่งไห้ ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง เป็นจีนแต้จิ๋ว โดยสกินเนอร์มีหลักฐานยืนยันคือมี “สุสานของพระเจ้าตาก” ที่เมืองเฉ่งไฮ้
กระทั่งพงศาวดารญวนและเขมรก็ยืนยันว่าบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว แซ่ติ้น แม่ชื่อก๊กฮวย ส่วนบันทึกจากทางฝั่งตะวันตก “จดหมายมองซิเออร์ เดอร์ ถึง มองซิเออร์ ดารากอง” ของฝรั่งเศสระบุว่าพระเจ้ากรุงธนฯ เป็นจีนครึ่งหนึ่ง

เมื่อไปค้นดูจากหลักฐานชั้นต้นคือจดหมายที่ไทยส่งไปปักกิ่ง พบว่าพระเจ้าตากใช้ชื่อแทนตัวเองว่า 昭 อ่านว่า “เจ” ในสำเนียงแต้จิ๋ว และ “เจา” ในสำเนียงจีนกลาง มีความหมายว่า “สว่าง” มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านให้ความคิดเห็นว่าการที่ใช้คำนี้น่าจะมาจากเสียงคำว่า “เจ้า” แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะสมัยอยุธยาไม่ได้ใช้ภาษาจีนกลาง
พระปรีชาสามารถในการใช้ภาษา
จากบันทึกประวัติศาสตร์จะพบว่า พระเจ้าตากพูดจีนได้หลายสำเนียงไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้งหรือฮกเกี้ยน เราจะพบว่าพระเจ้าตากสามารถคุยกับ “ม่อซื่อหลิน” (มักเทียนตู้หรือพระยาราชาเศรษฐีจีน) เป็นภาษาจีนกวางตุ้งได้ นอกจากนี้ตอนที่พระยาพิชัยพาลาวเมืองแพร่มา พระเจ้าตากก็พูดลาวใส่ได้ (สมัยก่อนเมืองทางเหนือถูกราชสำนักเรียกรวมๆ ว่า ”ลาว” ทั้งหมด)
สันนิษฐานว่าเหตุผลที่ท่านมีพระปรีชาเรื่องภาษา นอกจากเพราะมีเชื้อสายจีนแล้ว ท่านยังเป็นพ่อค้าที่ต้องใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่าพระเจ้าตากไม่น่าจะพูดจีนกลางได้ เนื่องจากสมัยนั้นที่ไทยยังไม่นิยมใช้จีนกลางอย่างแพร่หลาย
ชื่อพระราชชนนี “นกเอี้ยง” เพี้ยนเป็น “นกกระยาง”
หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษระบุว่าพระเจ้าตากเป็นลูกจีนไหฮองกับนางนกเอี้ยง สันนิษฐานว่า
เป็นชื่ออำเภอไหฮองเป็นส่วนหนึ่งของแต้จิ๋วพูดเหน่อๆจีนไหฮองพวกนี้เดินทางมาถึงอยุธยาก่อนจีนแต้จิ๋ว (เพราะงิ้วซีฉินเข้ามาก่อนงิ้วแต้จิ๋ว) มีการสันนิษฐานว่าจีนไหฮองกับแต้จิ๋วสำเนียงคล้ายกันมาก คนไทยซึ่งแยกไม่ค่อยออกเลยเรียกจีนแต้จิ๋วว่า “จีนไหฮอง”
คนทั่วไปทราบกันว่าพระราชชนนีหรือมารดาของพระเจ้าตาก ชื่อ “นางนกเอี้ยง” หรือ “ลกเอี้ยง” ซึ่งหากออกเสียงแบบจีนกลางคือ “ลั่วหยาง” ภายหลังมีการบันทึกชื่อเพี้ยนเป็น “นางนกกระยาง” เพราะนำชื่อตัวจีนไปเทียบเสียงแบบจีนกลางตามความนิยมของสมัยใหม่นั่นเอง
พระเจ้าตากเป็นลูกครึ่งจีนที่กลายมาเป็นกษัตริย์
ประเด็นนี้ถูกขยายและวิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีหลายคนตั้งคำถามว่าในเมื่อแน่ชัดแล้วว่าพระเจ้าตากมีเชื้อสายจีนแล้วสามารถขึ้นครองราชย์ได้อย่างไร หลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งระบุว่าท่านขึ้นครองราชย์อย่างถูกต้องและยังมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องอภินิหารต่างๆ รวมถึงอธิบายเหตุผลในการไปตีพุทไธมาศ ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่พระเจ้าตากขึ้นครองราชย์แล้ว มีการสันนิษฐานว่าเนื้อความส่วนใหญ่เขียนในเชิงบวกเพื่อเชิดชูพระเกียรติพระเจ้าตากและตอบคำถามที่อาจมีคนสงสัย
บางตำราก็เขียนให้ท่านเป็นลูกเจ้าคนนั้นคนนี้ ด้วยความรู้สึกว่าหากพระเจ้าตากเป็นจีนแล้วไม่ได้เป็นเกียรติเท่าไร เลยเขียนแก้ให้ แท้จริงแล้วกษัตริย์ของบ้านเมือง ณ ขณะนั้นจะเป็นใครก็ได้ที่มีความสามารถ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระเจ้าตากมีคุณูปการต่อประเทศไทยมาก และการจัดเสวนาในครั้งนี้คือเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน
ศาลประจำตระกูลที่เท่งไฮ่
สกินเนอร์ระบุว่าที่บ้านต้นตระกูลพระเจ้าตากที่จีนมีศาลบรรพชนขนาดเล็กมาก มีไหสองใบที่พิสูจน์ได้ว่ามาจากประเทศไทย สุสานเดิมนั้นอยู่ในแอ่ง ซึ่งคนจีนถือว่าเป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดี พอพระเจ้าตากถูกปฏิวัติคนเลยเอาไปลือกันว่าเป็นเพราะฮวงจุ้ยไม่ถูกโฉลก พอข่าวเรื่องพระเจ้าตากถูกปฏิวัติไปถึงหู ลูกหลานที่จีนไม่พอใจก็พากันไปทุบสุสานทิ้งเสีย เล่ากันว่าตอนทุบนั้นมีอีกาบินออกไปสามตัว ผลจากการทุบทำให้ดินไหลมากลบสุสาน กลายเป็นต้นร้ายปลายดีไปเสีย เพราะการที่ถูกดินกลบทำให้สุสานรอดพ้นจากการถูกทำลายในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

ส่วนบันทึกประจำตระกูลปรีดี พนมยงค์ ครูหลุยส์–น้องของอาจารย์ปรีดีทำบันทึกไว้ว่าหากนับถอยขึ้นไป 6 ชั่วคน แม่ของ “เฮง” ต้นตระกูลพนมยงค์มีศักดิ์เป็นอาพระเจ้าตาก และเชื่อว่าพระเจ้าตากเป็นจีนแต้จิ๋วจากอำเภอเท่งไฮ่
ขุนนางผู้ดีเก่าไม่ชอบกษัตริย์ลูกครึ่ง
เนื่องจากการที่พระเจ้าตากมีเชื้อจีนและท่านก็เปิดเผย ทำให้ขุนนางผู้ดีเก่าบางคนไม่นิยมในตัวพระเจ้าตากเท่าใดนัก พระเจ้าตากจึงจำเป็นต้องอ้างสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชย์เพื่อให้ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศยอมรับในการเป็นกษัตริย์ของตน
นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการศึกสงครามที่พระเจ้าตากใช้ตอนตีเมืองคือยุทธวิธีแบบจีน (ซุนวู) หาได้ใช้ตำราพิชัยสงคราม (ได้รับมาจากทางอินเดีย) เหมือนกษัตริย์ไทยทั่วไปไม่ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มขุนนางผู้ดีเก่าไม่พอใจ
ทหารจีนมีส่วนมากน้อยแค่ไหนตอนพระเจ้าตากกู้ชาติ
ประวัติศาสตร์เขียนว่าพระเจ้าตากมีลูกน้องทั้งไทยและจีน เลยมีคนตั้งข้อสงสัยว่าแล้วทหารจีนมีส่วนมากน้อยแค่ไหนตอนรบเพื่อกู้ชาติ เนื่องจากสมัยอยุธยาจะมีจีนฮกเกี้ยนอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยนั้นยอมช่วยพระเจ้าตากไหม เพราะพระเจ้าตากเป็นจีนแต้จิ๋ว คำตอบคือมีจีนบรรดาศักดิ์พวกที่เข้ามานานแล้วจนได้เป็นขุนนาง มีจีนยกสำเภาให้เพื่อใช้กลับมายึดอยุธยาคืน
พงศาวดารที่กล่าวถึงการรบที่พุทไธมาศ – ศึกบางกุ้ง ระบุว่ามีทั้งทหารไทยและจีนร่วมรบ แต่พอมาค้นพงศาวดารช่วงหลังกลับไม่มีท่อนนี้แล้ว สันนิษฐานว่าตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ จีนเหล่านั้นก็เข้ามาอยู่เป็นเวลานาน จนบางคนมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่งงานมีลูกมีหลานอยู่เมืองไทย จึงเรียกว่าทุกคนเป็น “คนไทย” หมดแล้ว

ลูกน้องคนเก่งของพระเจ้าตาก
มีการตั้งข้อสังเกตว่าต้นตระกูลจีนของพระเจ้าตากมีญาติเข้ามาไทยเพียงไม่กี่รุ่น เรียกได้ว่าเครือญาติน้อย เมื่อครั้งได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จึงต้องพึ่งพาคนไว้ใจไปครองเมือง
หนึ่งในนักรบคู่ใจของพระเจ้าตากคือ “หลวงพิชัยราชา” เป็นลูกของพระยาเพชรบุรีครั้งกรุงเก่า พบว่าตั้งแต่ตอนตีเมืองนครศรีธรรมราชก็ปรากฏชื่อพระยาพิชัยแล้ว พอตีหัวเมืองเหนือได้เลื่อนเป็น “เจ้าพระยาพิชัยราชา” และสุดท้ายได้เป็นหลวงพิชัยราชาตามลำดับ
อีกคนคือ “ขุนพิพิธวาที” หรืออีกชื่อคือ “พระยาราชาเศรษฐี(จีน)” ซึ่งชื่อนี้ได้หายไปหลังจากพงศาวดารธนบุรี 2318 ซึ่งผู้บรรยายกล่าวว่า เพื่อกันความสับสนของนักประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จึงอยากให้ทราบว่าสมัยนั้นมีพระยาราชาเศรษฐีมีสองคนคือ พระยาราชาเศรษฐี(จีน) หรือ “ขุนพิพิธวาที” กับ พระยาราชาเศรษฐี (ญวน) หรือ “มักเทียนตู้” นั่นเอง
พระเจ้าตากซ้อนแผนของมักเทียนตู้
ในตอนนั้น มักเทียนตู้อ้างกับประเทศจีนว่าฝั่งตนมีทายาทที่ถูกต้องที่ควรได้สืบเชื้อสายกษัตริย์ไทยอยู่ ทำให้พระเจ้าตากต้องไปต่อรองกับมักเทียนตู้ให้ส่งตัวทายาทมา
มักเทียนตู้จึงออกอุบายหลอกว่าจะส่งข้าวมาพร้อมเจ้าศรีสังข์ซึ่งเป็นทายาทมาให้ แต่แท้จริงมีแผนจะจับพระเจ้าตาก แต่โดนพระเจ้าตากซ้อนแผนตีกลับ ยกทัพไปตีเมืองจันทบุรี พอเข้ายึดเมืองจันท์ได้จึงสถาปนาขุนพิพิธวาทีเป็นพระยาพุทไธมาส มีการรบพุ่งตีกันไปมาหลายครั้ง จนสุดท้ายจึงจับมักเทียนตู้ได้สำเร็จ

พระยาราชาเศรษฐี (จีน) หายไปไหน?
จากที่เกริ่นมาก่อนหน้าว่าชื่อของพระยาราชาเศรษฐี(จีน) ได้หายไปหลังจาก พ.ศ.2318 ทำให้คนส่วนมากเข้าใจว่าเสียชีวิตแล้ว แต่มีข้อเสนอใหม่ทางประวัติศาสตร์คาดคะเนว่ามีความเป็นไปได้ที่ว่าเขาไม่ได้ตาย แต่แค่แปรพักตร์ โดยสังเกตจากช่วงยุครัตนโกสินทร์มีการเคลื่อนย้ายที่พักของกลุ่มชาวจีนที่แต่ก่อนอยู่ในวังให้ย้ายไปอยู่แถวสำเพ็งแทน หลักฐานพงศาวดารชิ้นหนึ่งระบุว่าสมัยปลายธนบุรี มีดำริให้พระยาราชาเศรษฐี (จีน) กลับไปครองประไทยมาศ (หรือพุทไธมาศ) ดังเก่า
มีช่วงหนึ่งที่พวกจีนและญวนโดนเนรเทศออกไปจากเมืองหลวง ด้านมักเทียนตู้โดนบังคับให้กินยาพิษตาย แต่ไม่แน่ใจพระยาราชาเศรษฐี (จีน) ตายด้วยหรือไม่ แนวคิดใหม่คาดการณ์ว่าน่าจะกลับมารับใช้รัชกาลที่1
เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะยุคสมัยใดการเมืองเปลี่ยนขั้วได้เสมอ
เสริมเรื่องปึงเท่ากง
นิราศของสุนทรภู่กล่าวถึงเมื่อครั้นผ่านวัดพนัญเชิง จีนแถวนั้นเรียกศาลเจ้าแบบจีนตรงนั้นว่า “ปึ่งเท่ากง” จากสำเนียงแสดงว่าจีนที่อยู่แถวนั้นเป็นจีนแต้จิ๋ว
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เวลาพูดถึงชุมชนชาวจีนควรระบุด้วยว่าเป็นจีนอะไร เช่น จีนนายก่ายเป็นฮกเกี้ยน จีนสวนพลูที่มาที่หลังเป็นแต้จิ๋ว เป็นต้น
เราจะมองเห็นความพิเศษของสังคมไทยคือไทยเป็นสังคมแบบ “บูรณาการ” ผสมปนเปได้หมด และอยู่กันได้ค่อนข้างราบรื่นไม่แตกแยก

มองความสัมพันธ์กับจีน
แผนที่ที่เขียนโดยฝรั่งเศส แสดงให้เห็นถึงฝั่งหน้าแม่น้ำเจ้าพระยา มีป้อมซึ่งถูกรื้อไปแล้ว วงเมืองไม่รวมตะวันออก และครั้งช่วงตอนพม่าตีกับฝรั่ง ชุมชนชาวจีนน่าจะหายไปหมด
นิราศเพชรบุรีที่ถูกแต่งขึ้นในสมัยปลายอยุธยามีการอ้างถึง “บางจีน” แสดงว่าสมัยนั้นต้องมีชุมชนจีนแล้ว ที่น่าสนใจคือในนิราศเพชรบุรีนี้ได้มีกล่าวถึง “วัดแจ้ง” แล้ว เพราะฉะนั้น นิทานที่กล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนล่องเรือจากอยุธยามาสว่างวัดแจ้งน่าจะถูกแต่งขึ้นภายหลัง

นอกจากแค่ในไทยแล้ว กระทั่งต่างชาติยังรับรู้การมีอยู่ของชุมชนจีน
จากหลักฐานของแผนที่ราชการลับของพม่า มีการส่งมอญเข้ามาเพื่อสืบราชการลับ ตรงตำแหน่งพระบรมมหาราชวังเขียนว่าเป็น “นิคมชาวจีน” โดยตรงนั้นมีวังพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทราพิทักษ์ ซึ่งคิดว่าน่าจะให้มาคุมกลุ่มชาวจีนอีกที
ที่น่าสนใจคือการให้ชุมชนชาวจีนมาอยู่ใกล้วังหลวง แสดงว่าพระเจ้าตากไว้เนื้อเชื่อใจกลุ่มคนจีนมาก โดยบ้านของพระยาราชาเศรษฐี (จีน) ยังตั้งอยู่ใกล้วังกว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ (ปัจจุบันคือบริเวณ ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) เสียอีก
แล้วชุมชนญวนตั้งอยู่ที่ไหน
อย่างที่ทราบกันว่าพระยาราชาเศรษฐี (ญวน) นั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระเจ้ากรุงธน สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่แถบวัดทิพวารี แถวบ้านหม้อ โดยให้อยู่กับ “องเทียนซุ่น” ซึ่งเป็นชาวญวนเหมือนกัน
แผนที่เก่าบอกอะไรบ้าง
เราสามารถเรียนรู้จากแผนที่สมัยเก่าว่า “คลองหลอด” ณ ปัจจุบัน อดีตคือคูเมือง ส่วนแถบบ้านหม้อเป็นบริเวณนอกเมืองธนบุรี
ส่วนชื่อ “ท่าเตียน” อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ห่าเตียน” ส่วน “อันนัม” คือ นิกายญวน
ส่วนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่เห็นแถวหน้าธรรมศาสตร์เป็นส่วนที่ขุดเพิ่มเติม สิ่งนี้ทำให้เราทราบได้ว่าพระชัยราชามีสายตาที่เฉียบมองการณ์ไกลมาก

*หมายเหตุ : บทความนี้สรุปมาจากการบรรยายในหัวข้อ “250 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม” จัดโดยอาศรมสยาม–จีนวิทยา ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายโดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ดำเนินรายการโดย ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2560 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุม 1102 ชั้น 11 อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿