ขับขานความสำเร็จเหนือโรคระบาด : คอนเสิร์ตฉลองครบ 45 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย-จีน

0
19

ขับขานความสำเร็จเหนือโรคระบาด : คอนเสิร์ตฉลองครบ 45 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย-จีน

กรุงเทพฯ, 12 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 ธ.ค. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กระทรวงวัฒนธรรมไทย และมหาวิทยาลัยศิลปะหนานจิงได้ร่วมกันจัดคอนเสิร์ต ‘สปริง ดอว์น’ (Spring Dawn) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ณ โรงละครแห่งชาติ

ในงานคอนเสิร์ต วงดุริยางค์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาร่วมกับวงดนตรีพื้นบ้านไทย ได้บรรเลงเพลง เก็บดอกท้อ (Picking Flowers) อรุณรุ่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring Dawn) และลำนำหญ้า (Rondeau de I’herbe) ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์และดัดแปลงร่วมของเหล่านักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองหนานจิง

โดยเพลงอรุณรุ่งฤดูใบไม้ผลิ (Spring Dawn) ที่ใช้เป็นชื่อคอนเสิร์ตได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวี ‘ชุนเสี่ยว’ (Spring Dawn) ของราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นผลงานพระราชนิพนธ์แปลโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความมุ่งหวังว่ามิตรภาพระหว่างไทยและจีนจะแข็งแกร่งและบานสะพรั่งเหมือนดั่งฤดูใบไม้ผลิ

หยางซิน รักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่าการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมจีน-ไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 45 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งเอื้อต่อการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างสองชนชาติและกระชับความสัมพันธ์ “จีน-ไทยพี่น้องกัน”

ในปี 2019 สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและมหาวิทยาลัยศิลปะหนานจิงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ และในปี 2020 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นการย้อนรำลึกความสำเร็จของความร่วมมือทางวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างสองฝ่ายที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังเป็นของขวัญครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทยด้วย

ด้านรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ที่ปรึกษาสภาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างนักดนตรีรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ระหว่างไทย-จีน ถือเป็นกิจกรรมเสวนาผ่านดนตรีที่เผยเสน่ห์วัฒนธรรมดั้งเดิมของสองประเทศ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างทั้งสองที่ยังคงงอกงามต่อไป แม้ในโมงยามแห่งการแพร่ระบาด

อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ หนึ่งในวาทยกรภายในงาน และผู้รับผิดชอบกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสองสถาบัน กล่าวว่าหลายปีมานี้ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและมหาวิทยาลัยศิลปะหนานจิงได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษามาโดยตลอด แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนบุคลากรในปีนี้เป็นไปอย่างจำกัด ทว่าอาจารย์และนักเรียนจากสองสถาบันยังคงร่วมมือรังสรรค์บทเพลง ฝึกซ้อม และแสดงดนตรีที่สอดรับกันอย่างแข็งขัน ถือเป็นหมุดหมายครั้งใหม่ของความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้การแพร่ระบาด

อาจารย์ ดร.อโณทัย นิติพน นักแต่งเพลงชาวไทยผู้หลงใหลในดนตรีจีนดั้งเดิมกล่าวว่า “ได้ฟังการตีระฆังชุด (เปียนจง) ในประเทศจีน และต้องมนต์สะกดในเสียงธรรมชาติของมัน การแพร่ระบาดทำให้เราไม่สามารถนำเครื่องดนตรีดังกล่าวมายังไทยได้ ฉันจึงพยายามใช้เครื่องดนตรีไทยที่มีเสียงคล้ายคลึงกัน สอดแทรกเข้าไปในบทเพลง โดยหวังว่าจะถ่ายทอดความงดงามของเสียงนี้ไปถึงใจของผู้ฟังชาวไทย และยังหวังว่าหลังการระบาดจบสิ้นแล้ว นักศึกษาจากสองประเทศจะได้พูดคุยและร่วมฝึกซ้อมแบบตัวต่อตัว เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแก่วัฒนธรรมดนตรีของทั้งสองประเทศ

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ผู้ประพันธ์เพลง “ชุนเสี่ยว” และคีตกวีชื่อดังของไทยกล่าวว่าเขาได้ซึบซาบความงดงามของธรรมชาติและความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งจากการอ่านบทกวีพระราชนิพนธ์ในกรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมเสริมว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ดีที่สุดทำให้ผู้คนจากต่างถิ่นได้ประสบพบความงดงามเฉกเช่นเดียวกัน”

ภายในงาน ยังมีเจ้าหน้าที่ชาวไทย นักธุรกิจและนักการทูตต่างประเทศมาร่วมรับฟังบทเพลง ซึ่งมีหลายเสียงต่างกล่าวยกย่องว่านี่คือคอนเสิร์ตที่ผสมผสานองค์ประกอบดนตรีของจีน ไทย และตะวันตกรวมไว้ด้วยกันอย่างละเมียดละไม