วิเคราะห์โอกาสที่ผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกาจะพบกันที่ไทย  ในการประชุมเอเปค 2022

0
1

วิเคราะห์โอกาสที่ผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกาจะพบกันที่ไทย  ในการประชุมเอเปค 2022 เดือนพฤศจิกายนนี้

การหารือกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายเรื่อง รวมถึงกรณีเผ็ดร้อนเรื่องไต้หวัน โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้นำทั้งสองยังหารือกันถึงโอกาสที่จะพบปะกัน

นายกวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองในประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ

ทำไมคุณกวีมองว่าไทยมีโอกาสที่จะได้ต้อนรับผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐในการประชุมเอเปค

กวี  : ที่ทั้งสองฝ่ายบอกว่า เราอาจจะต้องพบกันตัวต่อตัว ทำให้คิดถึงความเป็นไปได้ที่ผู้นำทั้งสองอาจจะพบปะกันที่ประเทศไทย  เพราะประเทศไทยเป็น 1ใน 3 ประเทศอาเซียนที่มีการจัดประชุมสุดยอดที่มีตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาและจีนเข้าร่วม  ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การประชุม         จี 20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยโอกาสที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา จะมาเจอกันในการประชุมเอเปคมีโอกาสมากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนและสหรัฐอเมริกา เราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐก็จริง  แต่เรามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมาเป็นเวลานาน  ถ้ามองดูปัจจัยต่างๆ แล้ว ไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพให้ประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม 21 เขตเศรษฐกิจมาที่กรุงเทพฯ พร้อมหน้าพร้อมตากัน

การพูดคุยกันทางโทรศัพท์กับการพบปะกันแบบเจอหน้าตัวต่อตัวของผู้นำมีความแตกต่างกันอย่างไร

กวี : เวลาผู้นำเจอกันตัวต่อตัว  ภาษาร่างกายจะทำให้การพูดคุยมีความหมายมากขึ้น  การจับมือกัน  การตอบรับ สายตา จะบ่งบอกได้ว่าความสัมพันธ์อยู่ในระดับไหน  การพูดผ่านวีดิทัศน์เป็นการพูดคุยที่มีข้อจำกัด เพราะเราไม่สามารถสังเกตท่าทีอะไรจริงจังไม่ได้  เราต้องดูสภาพบรรยากาศตัวต่อตัวภายในห้องประชุมด้วย  ซึ่งสำคัญมาก

หากผู้นำทั้งสองได้มาพบปะกันในการประชุมมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะหารือกันคือเรื่องอะไร

กวี : ถ้าเจอกันจริงๆ  สิ่งที่สำคัญคือทั้งสองประเทศจะทำอย่างไรในการลดความตึงเครียด และประเด็นที่สองคือต้องทำให้ทั่วโลกเห็นว่า สถานการณ์ในไต้หวันไม่เหมือนสถานการณ์รัสเซียยูเครนเด็ดขาด ฉะนั้นหากมีการพบปะกัน  กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่เหมาะสมและจะเป็นโอกาสที่ตอกย้ำว่า ความสัมพันธ์ มิตรภาพระหว่างจีนกับสหรัฐมีผลต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ จีนและสหรัฐมีบทบาทขับเคลื่อนประเด็นใดบ้าง

กวี :  จีนต้องการสนับสนุนสิ่งที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การส่งเสริมเรื่อง SME ซึ่งเป็นแกนพลังที่ทำให้เศรษฐกิจหลังยุคโควิด 19 รุดไปข้างหน้าได้ และความพยายามในการทำให้คนในภูมิภาคเอเปคสามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น  เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพเอเปคกำลังผลักดันอยู่

ส่วนทางสหรัฐอเมริกาจะมีการสานต่อเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และการสร้างดุลยภาพกับความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจและจะไปทำต่อในปีหน้า นอกจากนี้ สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการผลักดันคือ กรอบความร่วมมือของ Indo-Pacific Economic Framework ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติแล้ว และมีการพูดคุยในรายละเอียด โดยในช่วง 18 เดือนข้างหน้า สหรัฐจะผลักดันเรื่องนี้

ดังนั้น การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค ) 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 นี้ จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ จีนและสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาร่วมประชุมและใช้โอกาสนี้พบปะหารือกันแบบตัวต่อตัวหรือไม่

บทสัมภาษณ์ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ขอบคุณภาพ : เพจ APEC2022 Thailand