โอกาสสินค้าเกษตรไทยในการเจาะตลาดแดนมังกร

0
1

ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่จีนมีมูลค่าการค้าเป็นอันดับ 1 ของโลก จีนนำเข้าสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และประเทศไทยยังส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นอันดับ 1 ด้วย

ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ แต่ละมณฑลมีความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในการเจาะตลาดจีน

ปีพ.ศ. 2564 สินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากไทย ได้แก่ อันดับ 1 ผลไม้ มูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 ยางพาราธรรมชาติ มูลค่า 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 มันสำปะหลังแห้ง มูลค่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ แป้งมันสำปะหลัง ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ข้าว และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

ถ้ากล่าวถึงเฉพาะผลไม้ ปีพ.ศ. 2564 มูลค่าการนำเข้าผลไม้จีนจากทั่วโลก สูงถึง 15,700 ล้านเหรียญสหรัฐ มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยจีนนำเข้าผลไม้ไทย คิดเป็นมูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 40 รองลงมา คือชิลี ร้อยละ 15 ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์

ปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว กล่าวว่า พื้นที่ตอนใต้ของจีนเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการนำเข้าสินค้าการเกษตรของไทย โดยเฉพาะผลไม้ ปัจจุบันผลไม้ไทยร้อยละ 60 ถูกนำเข้าผ่านมณฑลทางตอนใต้ทั้งหมด

เส้นทางการส่งผลไม้ผ่านทางจีนตอนใต้ มีช่องทางหลัก 3 ทาง คือ ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ส่วนใหญ่ผ่านทางมณฑลกวางตุ้ง รองลงมา คือ กว่างสี ฉงชิ่ง ยูนนาน เจ้อเจียง ปัจจุบันช่องทางการขนส่งทางบกเป็นช่องทางการขนส่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าช่องทางอื่น

โดยมณฑลยูนนานเป็นมณฑลหนึ่งที่เป็นประตูสำคัญในการเปิดรับสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากมณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่อยู่ใกล้ประเทศไทย มีเส้นทางเชื่อมโยงทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางเรือ ทางอากาศ มีเส้นทางการขนส่งที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ทั้งเส้นทางขนส่งทางถนน อย่างเส้นทางR3A และเส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีด่านนำเข้าสินค้าเกษตรตามข้อกำหนดของศุลกากรแห่งชาติจีน คือ ด่านโม่ฮาน ด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว ด่านรุ่ยลี่ ด่านเทียนเป่า ด่านสนามบินฉางสุ่ย คุนหมิง และด่านท่าเรือกวนเหล่ย

นอกจากนี้ นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ได้บรรลุข้อตกลงกับเขตสิบสองปันนา ในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไปยังเฉิงตู ฉงชิ่ง ซีอาน อุรุมฉี ซึ่งยังเป็นโอกาสเชื่อมไปถึงเส้นทางรถไฟที่จะไปสู่ยุโรปด้วย

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าตลาดสินค้าเกษตรในจีนยังเปิดกว้างสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะการส่งสินค้าผ่านทางจีนตอนใต้ ใครที่สนใจส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน ลองศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ รวมถึงวิธีการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ  เพื่อสร้างโอกาสเจาะตลาดแดนมังกรต่อไป

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย