รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16

0
1

“พวงเพ็ชร” หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 เผยที่ประชุมสมาชิกฯ บรรลุเป้าหมายสูงสุดสร้างอาเซียนที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัว ตอบสนองต่อความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของ ปชช.ให้มากที่สุด

วันนี้ (22 กันยายน 2566) ณ นครดานัง ประเทศเวียดนาม นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในฐานะประธานการประชุมฯ ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานให้กับเวียดนามประเทศเจ้าภาพ พร้อมกล่าวย้ำว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมและการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งการส่งมอบตำแหน่งประธานให้กับเวียดนามในวันนี้ นายเหงียน แทน ลัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสารเวียดนาม ประธานการประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ว่าเป็นรัฐมนตรีหญิงแกร่งหนึ่งเดียวในการประชุมครั้งนี้ และเชื่อว่า ประเทศสมาชิกจะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสร้างอาเซียนที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัว และพร้อมตอบสนองต่อความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้มากที่สุด

โดยที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 รับทราบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วและได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนอาเซียน รวมถึงวิธีการสื่อสารและการบริโภคข้อมูลข่าวสารไปอย่างสิ้นเชิง และยังเห็นร่วมกันว่าเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างและกำหนดรูปแบบเนื้อหาดิจิทัลในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดนวัตกรรม แต่ในขณะเดียวกันมาพร้อมกับความท้าทาย เช่น การแพร่กระจายของข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์เนื่องจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ปัญหาข่าวปลอมในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข “สื่อ” จึงมีบทบาทสำคัญมาก การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนครั้งนี้ ที่ประชุมได้สนับสนุนปฏิญญาดานังเรื่อง “สื่อ” จากข้อมูลสู่ความรู้สำหรับอาเซียนที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนอง” มีเป้าหมายให้สื่อมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้พลเมืองอาเซียนมีภูมิรู้ มีความรู้เท่าทัน ทำให้ประชาชนรู้จัก “คิด วิเคราะห์และแยกแยะ” ได้ว่า ข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ หากเป็นข้อมูลเท็จ ต้องรู้ด้วยว่าแล้วความจริงคืออะไร และที่สำคัญต้องสามารถจุดประกายความคิดของประชาชนได้ด้วยว่า ข้อมูลเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์อะไรแอบแฝงหรือไม่ รวมทั้งผลักดันให้ประชาชนแต่ประเทศเพิ่มความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล