ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ขับเคลื่อนการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในระดับโลก

0
1

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนได้ประกาศและมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลา 75 ปีแล้ว แต่ปัจจุบัน สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของโลกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในประเด็นปัญหาที่ยืดเยื้อและน่ากังวลต่างๆ เช่น ความหิวโหย สงคราม มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนเสนอได้กลายเป็นเวทีความร่วมมือระดับโลก และเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความผาสุก โดยช่วยเหลือประเทศหุ้นส่วนในการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ตอบสนองความต้องการในทางปฏิบัติของประชาคมระหว่างประเทศในการ “ส่งเสริมการพัฒนาผ่านความร่วมมือและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านการพัฒนา”

นับตั้งแต่จีนเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่ดำเนินงานบนพื้นฐานความร่วมมืออย่างสันติและได้ผลประโยชน์ร่วมกันเมื่อปี 2013 เป็นต้นมา ได้ดึงดูดประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 3 ใน 4 และองค์การระหว่างประเทศกว่า 30 องค์การมามีส่วนร่วมในโครงการนี้

ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอดและการพัฒนา ซึ่งเป็นสิทธิที่มีความสำคัญยิ่งและจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีสัดส่วนประชากรมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก

ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างคุณูปการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิการมีชีวิตและสิทธิการอยู่รอดของทั่วโลก โดยผ่านการดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหุ้นส่วน สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนของประเทศเหล่านี้ ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรของจีนได้ช่วยประเทศบุรุนดีขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว เพื่อทำให้ประเทศดังกล่าวมีอาหารเพียงพอสำหรับคนในท้องถิ่น และที่ประเทศเซเนกัล โครงการเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนได้ตอบสนองความต้องการน้ำดื่มของประชากรหนึ่งในเจ็ดของประเทศนี้  ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในการแก้ไขปัญหาความหิวโหย ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม และปัญหาระดับโลกอื่นๆ

ด้านการบรรเทาความยากจน รายงานการวิจัยของธนาคารโลกระบุว่าโครงการความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะช่วยให้ประชากร 7.6 ล้านคนในประเทศหุ้นส่วนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง และประชากร 32 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนระดับปานกลางภายในปี 2030

การดำเนินความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ยังทำให้บริการทางการแพทย์ในประเทศหุ้นส่วนได้รับการยกระดับอย่างมีนัยสำคัญ ดังที่เห็นได้จากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกาที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน สำนักงานใหญ่แห่งนี้เป็นศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแรกในทวีปแอฟริกาที่มีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย

ในขณะเดียวกัน สิทธิในการทำงานของประชาชนในประเทศหุ้นส่วน ก็ได้รับการคุ้มครองผ่านความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เช่น โครงการความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ช่วยให้โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าสเมเดเรโว (Smederevo) ในประเทศเซอร์เบียพ้นจากวิกฤตการล้มละลาย รถไฟจีน-ลาวเริ่มเปิดบริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งล้วนได้สร้างงานจำนวนมากให้กับคนในท้องถิ่น

การศึกษาซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกประการหนึ่งก็ได้รับการส่งเสริมผ่านความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เช่นกัน ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จีนได้จัดตั้งหลู่ปัน เวิร์กชอบ (Luban Workshops) ขึ้นในประเทศหุ้นส่วนกว่า 20 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยจัดทำโครงการและหลักสูตรฝึกอบรมด้านต่างๆ เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม พลังงานใหม่ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง จนถึงขณะนี้หลู่ปัน เวิร์กชอป ได้ฝึกอบรมบุคลากรมากกว่า 12,000 คน

สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็มีการให้ความสำคัญเช่นกัน โดยข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เน้นการพัฒนาสีเขียวและความร่วมมือทางนิเวศวิทยา โครงการต่างๆ เช่น รถไฟมาตรฐานมอมบาซา-ไนโรบี ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เน้นย้ำถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศอย่างกลมกลืนกัน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนและประเทศหุ้นส่วนได้ดำเนินความร่วมมือด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เช่น จีนได้เสนอข้อริเริ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาสีเขียว “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับประเทศหุ้นส่วน 31 ประเทศ และดำเนินความร่วมมือด้านพลังงาน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับประเทศหุ้นส่วน 32 ประเทศ นอกจากนี้ โครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมได้ฝึกอบรมบุคลากรมากกว่า 3,000 คนจากประเทศหุ้นส่วนมากกว่า 120 ประเทศ

สรุปได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนระดับโลก ประชาชนประเทศต่างๆ ทั่วโลกคาดหวังว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จีนจะสร้างคุณูปการใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์โลกให้ดียิ่งขึ้น และช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อบรรลุการพัฒนาแบบครบวงจรในระดับที่สูงขึ้น

เขียนโดย ไช่ เจี้ยนซิน ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)