สัมผัสประสบการณ์หางโจวในประเทศจีน

0
603

ภาพบรรยากาศงานพิธีเปิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวหางโจวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างสื่อมวลชน ภายใต้หัวข้อ “สัมผัสประสบการณ์หางโจวในประเทศจีน” ภายใต้โครงการ “สัมผัสประเทศจีน” ตามนโยบาย “One Belt, One Road” งานนี้จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

โดยงานนี้จัดสืบเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมผู้นำ G20 ที่นครหางโจว การประชุมครั้งนี้ทำให้ชาวโลกได้เห็นและสัมผัส “ความงดงาม เอกลักษณ์และเสน่ห์ของหางโจว” ในขณะเดียวกัน จีนได้เล็งเห็นความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวจากอาเซียนที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของนครหางโจว ทางนครหางโจวจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้รู้จักหางโจวในมุมต่างๆ มากยิ่งขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์คลิปวีดีโอไปยังสื่อต่างๆในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ยกระดับการท่องเที่ยวของหางโจวให้มีความเป็นสากลมากขึ้นอีกด้วย โดยในพิธีเปิดงาน ได้รับเกียรติจาก นายหลิว อวี่เฟิง ผู้บริหารคณะกรรมการการท่องเที่ยวนครหางโจว นายเฉิน เจียง ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานทูตจีน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายสวี กั๋วหยิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่Hangzhou Culture Radio Television Group  นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน นายไพศาล ฉายาวรกุล นายกสมาพันธ์ศิลปินไทย-จีน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ คุณเลี่ยว เสี่ยวชุน เป็นเลขาธิการคณะกรรมการจัดงาน

ภายในงานได้มีการปาฐกถาหัวข้อ บทบาทขององค์กรสื่อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีคำปาฐกถาบางส่วนดังนี้

“ด้านการสื่อสารมวลชน หรือที่คนไทยเรียกรวมๆว่านิเทศศาสตร์นั้น มีผลต่อการท่องเที่ยวเป็นอันมาก ในฐานะนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน ภาพแรกของ นครหางโจวที่คนไทยได้รับทราบกันก็มาจากการที่ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมผู้นำ G20 ที่นครหางโจว ซึ่งในครั้งนั้น ฯพณฯ ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และภริยา ก็ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ด้วย ทำให้เราเห็นภาพความยิ่งใหญ่ ความงดงามของนครหางโจวโดยทั่วกัน
ในช่วงนั้นสื่อมวลชนไทย ได้นำข่าวจากสำนักข่าวซินหัว วิทยุและเว็บเพจ CRI นสพ.พีเพิลเดลี นิตยสาร New Silk Road และสื่ออื่นๆ อีกมากมาย มานำเสนอ คนไทยจึงได้รับทราบปริบททางวัฒนธรรม ความงดงาม เอกลักษณ์และเสน่ห์สถานที่ท่องเที่ยว ภาพถ่ายต่าง ๆ ของนครหางโจวไปด้วย แน่นอนคนไทยหลายท่านเริ่มรู้จักชาเขียวชื่อสะท้านโลกอย่าง ชาหลงจิ่ง หรือ ทราบว่า นครหางโจวเป็นเมืองดิจิทัล ไร้สาย และ เป็นสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ก็คราวนี้ ความเป็น tech hub หรือ ศูนย์กลางเทคโนโลยีของหางโจวเอง ก็เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก อยากจะไปเที่ยวเยี่ยมชมองค์กรเหล่านั้น หรือ ไปร่วมงานประชุมวิชาการแล้วต่อด้วยเที่ยวในย่านนั้นต่อสัก 2-3 วัน

ในงานเดียวกันนี้ ผมซึ่งศึกษาด้านนิเทศศาสตร์มา พอได้ยินคำกล่าวจากข่าวของ ท่านประธานาธิบดีจีน ท่านสี จิ้นผิง ที่กล่าวในงานนี้ว่า “ปัจจุบัน ดัชนีจีนี (ดัชนีการกระจายรายได้) ของโลกเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 0.7 (ซึ่งเกิน 0.6 “เส้นอันตราย” ที่ตกลงโดยประชาคมโลก) ทำให้ทราบว่า ตอนนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น มีสูงขึ้นมาก
ในฐานะนักวิชาการนิเทศศาสตร์ และ สื่อมวลชนด้วย ก็พยายามคิดว่า ปัญหาปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น “สื่อมวลชน” จะสามารถร่วมด้วยช่วยกันด้วยวิธีการใดบ้าง ก็พอเห็นโอกาสที่สื่อจะช่วยได้ 2-3 ประการเช่น

1.สื่อมวลชน ควรร่วมด้วยช่วยกัน นำเสนอสารคดี รายการท่องเที่ยว ทั้งให้คนไทยไปจีน และ คนจีนมาไทย เพื่อในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงลึก ที่เน้นการกระจายรายได้สู่ร้านค้าย่อย โรงแรมท้องถิ่น และ ร้านอาหารท่องถิ่น ทั้งนี้สื่อมวลชนอาจจะนำเสนอจุดที่ประเทศไทย และ หางโจวมีความเหมือนร่วม เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กับ พิพิธภัณฑ์ผ้าไหม หางโจว / ภาพยนตร์แม่นากพระโขนง กับ ตำนานนางพญางูขาว แล้วจัดให้มีการตามรอยภาพยนตร์นั้น ก็อาจจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทาง

2.สื่อมวลชน ควรร่วมด้วยช่วยกันทำเนื้อหาในสื่อออนไลน์ให้มาก สร้างเครือข่ายแห่งข้อมูลข่าวสาร เพราะในโลกยุคนี้ เนื้อหาออนไลน์ สอดคล้องต่อการรับข้อมูลข่าวสารของคนรุ่นใหม่ โดยเนื้อหาออนไลน์ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องแค่การท่องเที่ยว แต่สามารถขยายขอบเขตไปถึงเรื่อง การค้า การลงทุน การศึกษาต่อ ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางข้อมูลข่าวสาร ซึ่งยิ่งมีความเชื่อมโยงมาก “จุดเชื่อมมีมาก การกระจุกก็จะน้อย ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำได้”

3.สื่อมวลชน ควรร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนสันติภาพ สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ซึ่งความรู้จัก ความคุ้นเคยกันนั้น พอมากเข้าก็จะเสมือนเป็นญาติ เป็นพี่น้องกันอันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เอาเปรียบกันในภาพรวมอีกด้วย การสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่ทรงพลัง เชื่อมต่อกัน และเอื้ออาทรกัน ต้องอาศัยพลังจากสถาบันสื่อมวลชนมาช่วยเป็นแม่นมั่น

 

ทุกท่านครับ สื่อมวลชนในยุคดิจิทัลนี้ จึงควรมีบทบาทช่วยเหลือสังคม พัฒนาสังคม ชี้นำหนทางดีๆให้แก่สังคมในภาพรวมด้วย เรียกได้ว่า สื่อมวลชนนอกจากจะเป็น “กระจก” สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว ก็ยังควรเป็น “ตะเกียง” ส่องนำทางให้สังคม ไปยังทิศทางที่ถูกต้อง ช่วยส่องนำทาง ให้ประเทศชาติได้เห็นหนทางที่ดี ที่เหมาะสม พ้นจากความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

ทั้งนี้ในฐานะที่สื่อมวลชนเป็น “ตะเกียง” ส่องนำทาง องค์กรสื่อมวลชนเองก็จึงจำเป็นต้องเป็นตะเกียงที่ทันสมัย สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ติดตาม ได้รับข้อมูลข่าวสารที่รู้เท่าทัน ความเปลี่ยนไปของโลก อัพเดตตัวเองให้ทันพร้อมกับยุคสมัย ข่าวที่นำเสนอก็ต้องเป็นข่าวที่มีความเจาะลึก นำเสนอความจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวประชาสัมพันธ์ หรือ นำเสนอเฉพาะข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามปกติแต่เพียงอย่างเดียว หน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะสถาบันหนึ่งของสังคม ควรที่จะมีส่วนร่วม ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการแสวงหาแนวทางที่ดี ในการทำให้เกิดโครงการที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ร่วมด้วยช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ และ ส่งเสริมเจตนารมณ์เป็นหุ้นส่วนกัน”