พาณิชย์จับมือแบงค์ชาติและเอกชน ถกเงินบาทแข็ง พร้อมกระตุ้น SMEs รับมือความผันผวน

0
183

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกระแสความกังวลว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและมากกว่าที่คาด อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมถึงความขัดแย้งในหลายภูมิภาคทั่วโลก ที่ทำให้การประกันความเสี่ยงเป็นเรื่องจำเป็น จึงได้มอบให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA (New Economy Academy) จัดการเสวนาเรื่อง “ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการSMEs เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ว่าอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกอย่างไร และจะหาทางแก้ไขหรือป้องกันผลกระทบได้อย่างไรบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ SMEs อาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่ทราบทางเลือกในการรับมือกับเรื่องดังกล่าวมากเพียงพอ

“หลายคนกำลังพูดกันเรื่องค่าเงินบาทแข็งเกินไป ซึ่งจริง ๆ กระทรวงพาณิชย์ทราบว่า หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงคือธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เขาก็จะเข้าใจและหาทางป้องกันความเสี่ยงไว้ในระดับหนึ่ง แต่เราอยากให้ผู้ประกอบการ SMEs ตื่นตัวเรื่องการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเช่นกัน เพราะปัจจุบันการค้าโลกมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการค้าบ่อยครั้ง จำเป็นที่ SMEs ของเราจะต้องมีความรู้รอบด้านและเข้าใจวิธีการเตรียมรับมือไว้บ้าง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น” นางอภิรดีกล่าว

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตร สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร” ขึ้นในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 เวลา 12.00-17.00 น. ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันให้ความรู้ แนวคิด เทคนิคการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แก่ SMEs ในธุรกิจส่งออก-นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งผู้สนใจที่ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกอย่างจริงจัง

“งานเสวนา ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA เป็นแม่งานหลักในครั้งนี้ เราได้เชิญชวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการเงิน มาให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ฯลฯ ตลอดจนภาคเอกชน สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และสมาคมธนาคารไทย ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะมาร่วมสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องค่าเงินบาทผันผวนให้กับ SMEs ที่อาจจะยังไม่ทราบวิธีการ เทคนิค หรือทราบทฤษฎี แต่ไม่รู้จะปฏิบัติจริงได้อย่างไร มีหน่วยงานไหนให้บริการด้านนี้บ้าง และมีบริการช่วย SMEs บริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินแบบไหนบ้างที่เหมาะกับธุรกิจแต่ละราย” นางมาลีกล่าว

หัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ เช่น “แนวทางผ่อนคลายเงินตราต่างประเทศของ ธปท. กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย” “เคล็ดลับปรับตัว ไม่กลัวค่าเงินผันผวน” “เทคนิคบริหารธุรกิจ ปิดความเสี่ยงค่าเงิน” นอกจากนั้น ยังมีผู้ประกอบการต้นแบบที่มีเทคนิคการบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินผันผวนที่ประสบความสำเร็จมาเล่าประสบการณ์จริงให้ SMEs ฟังอย่างลงลึก และผู้เข้าร่วมงานจะได้รับคำปรึกษาจากธนาคารพาณิชย์ที่มาออกคูหาอย่างคับคั่ง มานำเสนอบริการช่วย SMEsบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินที่เหมาะกับธุรกิจของแต่ละราย พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์พิเศษที่จะให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงพาณิชย์และพันธมิตรทุกหน่วยงาน เราคาดหวังว่าการปฏิรูปการสร้างและพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้านการบริหารจัดการการเงินอย่างครบวงจรที่จัดโดยสถาบัน NEA ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในระยะยาวกับ SMEs ไทย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาธุรกิจการส่งออกให้เจริญเติบโต ลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”

สำหรับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA เป็นหน่วยงานใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าใจวิธีการทำการค้าขายยุคใหม่ในหลายด้าน อาทิ ด้านดิจิทัล ด้านบริหารจัดการธุรกิจสู่สากล ความรู้เบื้องต้นเพื่อการส่งออก ความรู้เฉพาะทางด้านการตลาดระหว่างประเทศ ที่เน้นเป็นประเภทสินค้า หรือเน้นตามตลาด เป็นต้น ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปแล้วทั้งหมดเกือบ 13,000 ราย และจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ออกมาตลอดปี