“จีนเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศไปสำรวจ “ด้านหลัง” ของดวงจันทร์”

0
2

“จีนเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศไปสำรวจ “ด้านหลัง” ของดวงจันทร์”

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

โดยธรรมชาติแล้ว ดวงจันทร์หันหน้าด้านเดียวเข้าหาโลกโดยตลอด  ส่วนอีกหน้าหนึ่งจะซ่อนอยู่ด้านหลังเสมอ  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกด้วยความเร็วเท่ากับที่โลกหมุนรอบตัวเองพอดิบพอดี   เราจึงได้เห็นแต่ด้านหน้าของดวงจันทร์ที่หันหน้ามาหาเรา  ส่วนอีกด้านหนึ่งที่อยู่ด้านหลัง  ภาษาจีนเรียกว่า “เป้ยเมี่ยน” หรือ “ด้านหลัง” ส่วนฝรั่งนิยมเรียกว่า “far side” หรือ “ด้านที่อยู่ไกล”

มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีสมองและมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นพิเศษ  ความอยากรู้อยากเห็นล่องลอยไปไกลถึงดวงดาวต่าง ๆ ในอวกาศ  อยากรู้ว่ามีมนุษย์อยู่บนดาวดวงไหนหรือไม่  บนดวงดาวมีแร่ธาตุมีค่าอะไรที่เหมาะจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง  การสำรวจอวกาศของมนุษย์เริ่มต้นจากดวงจันทร์ก่อนเพราะอยู่ใกล้ที่สุด   สหภาพโซเวียตเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศ Sputnik ขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 1957  ส่วนอเมริกาก็ไม่ยอมน้อยหน้า ได้ตั้งองค์การสำรวจอวกาศ  NASA  ขึ้นแล้วส่งยานอวกาศ Apollo ขึ้นไปในปี 1969  ในครั้งนั้นผู้คนพากันตื่นเต้นที่เห็นภาพนักบินอวกาศ “นีล อาร์มสตรอง” กำลังเดินย่ำอยู่บนผิวดวงจันทร์  แล้วปักธงชาติอเมริกาเป็นสักขีพยานการลงเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก   แต่เรื่องนี้ต่อมาถูกกล่าวหาว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดจัดฉากหลอกลวงชาวโลก  อันที่จริงจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีมนุษย์ลงไปถึงผิวดวงจันทร์ได้เลย

กล่าวกันว่าอเมริกาใช้งบประมาณกับโครงการนี้ถึง 25,000  ล้านดอลลาร์  ใช้คนทำงานถึง 4 แสนคน  การส่งยานแต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงมาก  มีครั้งหนึ่งที่จรวดระเบิดขณะยิงขึ้นจากผิวโลกเพียงไม่กี่นาที  ทำให้มนุษย์อวกาศในนั้นเสียชีวิตถึง 3 คน  เรื่องเหล่านี้ทำให้อเมริกาต้องคิดหนัก  ประกอบกับการเมืองภายในของอเมริกาเองก็กำลังปั่นป่วน  อเมริกาติดพันอยู่ในสงครามเวียดนามมาหลายปีจนต้องยอมแพ้   ส่วนภายในประเทศก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี  โครงการอวกาศของเมริกาจึงถูกระงับไปอยู่นาน จนกระทั่งจีนเริ่มผงาดขึ้นมาเอาจริงเองจังทางด้านอวกาศ  อเมริกาจึงต้องหันมาจับโครงการนี้อีกครั้งในปี 2021  ภายใต้ชื่อโครงการใหม่เรียกว่าโครงการ Artimis

จีนมองเห็นความสำคัญในการค้นคว้าวิจัย   และได้ทุ่มเทงบประมานมหาศาลให้กับโครงการอวกาศ  เริ่มด้วยการตั้ง   “องค์การอวกาศแห่งชาติ”หรือ CNSA (China National Space Administration)  ขึ้นก่อนในปี 1994  ต่อมาก็ได้ให้กำเนิดโครงการที่รู้จักกันดีว่า “โครงการฉางเอ๋อ” (China Lunar Exploration Project)  เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2004  ได้ส่งยานฉางเอ๋อ-1 และ 2 ไปโคจรรอบดวงจันทร์   ตามมาด้วยฉางเอ๋อ 3  ฉางเอ๋อ 4 ที่ยิงตามติดขึ้นไป  ปี 2013  ฉางเอ๋อ 3  ลงจอดและสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ  แต่ยังคงเป็นการสำรวจดวงจันทร์ด้านหน้าที่หันเข้าหาโลกเท่านั้น  ความมุ่งมั่นของจีนที่จะสำรวจดวงจันทร์ที่อยู่ด้านหลังหรือด้านไกลเริ่มส่อเค้าให้เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2018  ฉางเอ๋อ 4  ถูกส่งไปบินรอบดวงจันทร์ทางด้านหลัง (ด้านไกล) และลงจอดได้สำเร็จ  ตามมาด้วยฉางเอ๋อ 5 ส่งไปเพื่อทดลองเก็บตัวอย่างทางด้านหน้าของดวงจันทร์  ครั้งสุดท้ายคือโครงการฉางเอ๋อ 6 ที่บทความนี้จะลงรายละเอียด  เป็นโครงการที่จีนเพิ่งส่งไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง

ภารกิจของฉางเอ๋อ 6 คือการไปเก็บตัวอย่างทั้งวิธีขุดเจาะและเก็บจากพื้นผิว  ที่บริเวณขั้วใต้ด้านหลังของดวงจันทร์ให้ได้ 2,000 กรัม  ภารกิจนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพราะมีความยุ่งยากซับซ้อนหลายด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารกับทางโลก  เพราะต้องมีดาวเทียมสื่อสารอีกดวงหนึ่งที่ส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์เป็นข้อต่อในการถ่ายทอดข้อมูล     อีกทอดหนึ่ง  การลงจอดของยานก็มีความซับซ้อน  เพราะต้องแบกอุปกรณ์ขุดเจาะ แขนกลเก็บตัวอย่าง และยานที่จะส่งตัวอย่างต่าง ๆ ที่ขุดได้ไปส่งให้กับยานที่จะกลับสู่พื้นโลก  ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นระบบอัตโนมัติใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด

มนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่างมาแล้ว 10 ครั้ง  มีแต่ครั้งนี้เท่านั้นที่ยานสำรวจจะลงจอดที่ด้านหลังของดวงจันทร์  เพราะจากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า พื้นผิวดวงจันทร์ด้านหลังมีอายุเก่าแก่กว่า  มีคุณค่าในการวิจัยมากกว่า  ฉางเอ๋อ 6 มีภาระหน้าที่ต้องลงจอดและเก็บตัวอย่างกลับมาศึกษาวิจัยให้ได้

ทั้งหมดนี้ทางการจีนตั้งเป้าว่า หากฉางเอ๋อ 6 ได้รับความสำเร็จอย่างดี ฉางเอ๋อ 7 และ 8 จะเป็นก้าวต่อไปสู่การสร้างสถานีอวกาศและส่งมนุษย์ขึ้นไปประจำบนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2030  แล้วอาศัยดวงจันทร์เป็นฐานในการสำรวจดาวพระเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะต่อ ๆ ไป  นอกจากนี้การสำรวจดวงจันทร์ยังมีแรงจูงใจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  คือโอกาสที่จะได้ค้นพบแหล่งแร่หายาก เช่น แร่ลิเทียมซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่บนดวงจันทร์จำนวนมาก

ปัจจุบันจีนเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีใช้เทคโนโลยีอวกาศของตนเองล้วน ๆ   ทั้ง ๆ ที่อเมริกาพยายากีดกันจีนไม่ให้เข้าร่วมโครงการอวกาศนานานาชาติที่อเมริกาเป็นผู้นำ   แต่จีนก็ไม่ยี่หระได้สร้างสถานีอวกาศ “เทียนกง” ขึ้นเป็นสถานีอวกาศถาวร   แล้วส่งมนุษย์อวกาศผลัดกันขึ้นไปประจำตลอดเวลาเป็นรุ่น ๆ มนุษย์อวกาศจะทำหน้าที่ทดลองวิจัยทางวิทยาศาสตร์โครงการต่าง ๆ ภายใต้สภาวะที่เป็นสุญญากาศ  คาดว่าอีกไม่นาน  “เทียนกง” จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ของอเมริกาที่เก่าแก่  และมีทีท่าว่าจะหมดอายุปลดระวางลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

จีนนอกจากจะทุ่มเทงบประมาณปีละ 2,000 ล้านหยวนในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศแล้ว  ยังเปิดโอกาสให้กับบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจ  สามารถร่วมลงทุนในกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ที่ตนสนใจ เช่น  ร่วมทุนกับจีนเพื่อใช้ดาวเทียมของจีนวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการคมนาคม  การนำร่อง  การพยากรณ์อากาศ  กระทั่งการทหาร  จีนมีแผนจะทำให้ตนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศภายในปี 2045

ศาสตราจารย์ ซาอิด มอสเตซาร์ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายและกฎหมายอวกาศแห่งลอนดอนกล่าวว่า…

“นี่คือการแสดงอำนาจและแสนยานุภาพ อีกทั้งเผยให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนอย่างชัดเจน”