หัวเว่ย เปิดศูนย์หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงค์กอก-ใหญ่สุดในอาเซียน

0
250

หัวเว่ย ผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก เปิดตัว “ศูนย์หัวเว่ยโอเพ่นแล็ป  แบงค์กอก” (Huawei OpenLab Bangkok) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานด้านไอซีทีแบบครบวงจรสำหรับองค์กรต่างๆ และช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล  ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายเดวิด ซุน ประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายหนิงฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  ดร.อรรชกา สีบุญเรือง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดครั้งนี้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณหัวเว่ยที่มีน้ำใจและมีความจริงจังในการช่วยเหลือประเทศไทย ศูนย์โอเพ่นแล็ปดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรก ต่อไปจะไปต่อที่อีอีซี ซึ่งจะมีการนำแพลตฟอร์มของหัวเว่ยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเมื่ออินเทอร์เน็ตหมู่บ้านแล้วเสร็จ หัวเว่ยจะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้  อย่างไรก็ตาม ล่าสุดไอเอ็มดี ประกาศว่าขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 1 ลำดับ จาก 28 ไปเป็น 27 ประเมินจากสมรรถนะทางเศรษฐกิจ สมรรถนะรัฐบาล สมรรถนะเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน  ประการแรกด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจเลื่อนขึ้น 3 อันดับ ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นมา 4 อันดับ การค้าขึ้นมา 3 อันดับ ที่กล่าวกันว่าประเทศไทยย่ำแย่ ข้อเท็จจริงที่ต่างประเทศมองได้สะท้อนออกมาอีกอย่าง  ด้านสมรรถนะรัฐบาลขึ้นมา 3 อันดับ จากการยกระดับด้านการบริหารจัดการ การลดขั้นตอนกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น ส่วนเอกชนดีมากเช่นเดิม สุดท้ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน คะแนนโดยรวมเท่าเดิมแต่คะแนนภายในพบว่าด้านเทคโนโลยีขึ้นมา 6 อันดับ โครงสร้างพื้นฐานทั่วไปขึ้นมา 1 อันดับจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่กำลังทยอยออกมาต่อเนื่องหากแล้วเสร็จเชื่อว่าคะแนนจะก้าวกระโดดแน่นอน

“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว เราจะต้องหนักแน่น ทำให้ดีที่สุด อย่าวอกแวก ขณะเดียวกันออกไปช่วยประชาชนที่ด้อยโอกาส นึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ลงมือปฏิบัติจริงจัง ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด” ดร.สมคิด กล่าว

ศูนย์หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงค์กอก ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือเป็นศูนย์โอเพ่นแล็ป ลำดับที่ 7 ของหัวเว่ยทั่วโลก ต่อจากซูโจว เม็กซิโก มิวนิก สิงคโปร์ โจฮันเนสเบิร์ก และดูไบ โดยมีเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ ณ อาคารจี ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทแห่งใหม่ในประเทศไทย

นายเดวิด ซุน ประธานกรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ศูนย์หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงค์กอก จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลแก่ลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ ในอุตสาหกรรม โดยจะเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด และดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ช่วยแก้ปัญหาการทดสอบโซลูชั่นการใช้งานต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม และให้บริการฝึกอบรมด้านไอซีที

ศูนย์นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและการคิดค้นโซลูชั่นใหม่ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศไทย รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านต่าง ๆ อาทิ สมาร์ทซิตี้ ความปลอดภัยสาธารณะ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การเงิน  การศึกษา การขนส่ง และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

ในพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าว นายเดวิด ซุน ได้กล่าวว่า ศูนย์โอเพ่นแล็ป แบงค์กอก ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและการศึกษาของไทยในด้านไอซีทีด้วย   “เมื่อผนวกกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0” และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของภูมิภาคมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมได้ผลักดันให้ความเร็วในการเชื่อมต่อโมบายบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นจาก 5 Mbs ไปอยู่ที่ 15 Mbps และเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารโดยตรงของไทยไปยังประเทศต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำ”

นอกจากนี้หัวเว่ยยังคงให้การสนับสนุนภาครัฐบาลของไทยในหลายด้านผ่านการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ และเอกชน และองค์กรวิจัยต่างๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศ การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมสู่การเติบโตแนวดิ่ง (vertical industries) และการนำเสนอประสบการณ์การใช้งานดีไวซ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าชาวไทย

“เรามุ่งหวังว่าบริษัทหัวเว่ยจะเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย” นายซุน กล่าว

ศูนย์โอเพ่น แล็ป บางกอก ตั้งเป้าจะให้การฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี รวมถึงพัฒนาบุคลากรที่ผ่านประกาศนียบัตรรับรองด้านอาชีพ Huawei Certification อีก 500 คนต่อปี และคาดว่าจะสามารถรองรับโครงการทดสอบแนวคิด (POC) ราว 150 คนต่อปี โดยคาดว่าทุก ๆ ปี จะสามารถต้อนรับบริษัทสตาร์ทอัพด้านไอซีทีได้มากกว่า 20 ราย

สำหรับในส่วนของโครงการความร่วมมือของศูนย์โอเพ่น แล็ป บางกอกกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

  • โครงการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านไอซีทีเพื่อพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค
  • โครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เมืองแห่งความปลอดภัยของกรมตำรวจ
  • โครงการความร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเมืองอัจฉริยะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากนี้ที่ศูนย์หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงค์กอกยังได้ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศอีกกว่า 30 แห่ง เพื่อให้บริการข้อมูล และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และดิจิทัลโซลูชั่น อาทิ เอสเอพี, ไมโครซอฟท์, ฮันนี่เวลล์, บอมบาร์ดิเอร์, ออราเคิล, แอ็กเซนเจอร์ และอินโฟซีส ฯลฯ

และในปี 2560 หัวเว่ยวางแผนที่จะเปิดศูนย์โอเพ่น แล็ป ใหม่อีก 7 แห่งทั่วโลก และอีก 3 ปีนับจากนี้ จะลงทุนด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 200 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มบุคลากรอีกประมาณ 1,000 คน เพื่อสร้างศูนย์โอเพ่น แล็ป ให้ครบ 20 แห่งในปี 2562